
นายกฯ ติง SMS แจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่าช้า “ข้อความ” ไม่ช่วยประชาชน
นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ ตำหนิหน่วยงานส่ง SMS ล่าช้า ใช้ข้อความไม่มีประโยชน์กับประชาชน จี้เร่งปรับปรุง ขณะที่ ปภ. สรุปสถานการณ์ทั่วไทย ได้รับความเสียหายรวม 14 จังหวัด
วันนี้ (29 มี.ค.68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุม กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อวานนี้
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทันทีที่เริ่มการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งว่า เมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ก็ได้ส่งข้อความให้ กสทช. แจ้งเตือนประชาชนทันที 4 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ เวลา 14:42 น. ซึ่งกสทช. ก็รับแจ้งต่อทันทีในเวลา 14:44 น. ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล แต่ยอมรับว่า การส่ง SMS มีความล่าช้า เนื่องจากระบบมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนในการส่งข้อความ ที่สามารถทยอยส่งได้คราวละ 1-2 แสนรายเท่านั้น และจะแจ้งได้เมื่อได้รับข้อความจาก ปภ.
นายกรัฐมนตรี ได้ท้วงติงว่า การแจ้งเตือนประชาชนยังมีความล่าช้า ทั้งที่ตนได้สั่งการทันทีภายหลังทราบสถานการณ์ ตั้งแต่ก่อนเวลา 14:00 น. แต่ระบบไม่มีการแจ้งเตือนไปยังประชาชน รวมถึงข้อบกพร่องในการประสานงานกับค่ายมือถือต่าง ๆ ก็ล่าช้า ตลอดจนข้อความที่แจ้งเตือนประชาชนก็ไม่มีประโยชน์มากนัก ข้อความที่สื่อสารออกไปเกิดประโยชน์น้อยมากต่อประชาชนไม่ตรงตามความต้องการ
“…สิ่งที่ไม่มาคือ SMS และชาวต่างชาติที่เขาอยู่ด้วย การที่ซื้อซิมของไทยในระยะสั้น ๆ เรามีเตือนไหม ภัยพวกนี้ อันนี้ของให้ทาง กสทช. กับทางปภ. ช่วยประสานกันอีกทีหนึ่งว่าสามารถทำพวกนี้ให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะว่าท่านต้องตอบคำถามนี้ เพราะดิฉันต้องตอบคำถามประชาชน เพราะว่าดิฉันสั่งไปตั้งแต่ก่อนบ่าย 2 ว่า SMS เตือนทุกอย่างแต่ระบบไม่ออก ก็เลยไม่ทราบว่า มันต้องปรับปรุงตรงไหนเพิ่มเติมอีก… วันนี้ก็จะเห็นเลยว่าสิ่งที่ยังปรับปรุงได้คือเรื่องของ SMS ดิฉันหวังว่าเมื่อ Cell Broadcast มาก็จะเป็นอะไรที่เป็นคำตอบ” นางสาวแพทองธารกล่าวในที่ประชุม
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวยอมรับว่าตนผิดเองที่ไม่ได้แจ้งว่าจะต้องแจ้งข้อความว่าอย่างไร เพราะทุกฝ่ายควรร่วมกันบอกรายละเอียดประชาชนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง พร้อมขอบคุณรายการโทรทัศน์ทั้งหมดที่ออกรายการเฉพาะกิจภายในไม่ถึง 5 นาทีหลังจากที่ได้สั่งการ
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติหรืออุบัติเหตุขนาดใหญ่ ต้องมีแผนแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า รวมถึงส่งข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางที่ได้รับผลกระทบผ่าน SMS อย่างทันท่วงที
ส่วนกรณีระบบขนส่งสาธารณะหยุดให้บริการ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม รายงานว่า ทันทีที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งตั้ง “ศูนย์สั่งการของกระทรวงคมนาคม” ทันที พร้อมสั่งหยุดให้บริการระบบขนส่งสาธารณะชั่วคราว เพื่อประเมินสถานการณ์และตรวจสอบความปลอดภัยของโครงสร้างสำคัญ ทั้งทางอากาศ ทางราง และทางน้ำ
โดยเน้นให้วิศวกรเข้าตรวจสอบโครงสร้างที่อ่อนไหว เช่น โครงสร้างยกระดับ อุโมงค์ใต้ดิน และรันเวย์สนามบิน สำหรับทางอากาศ กระทรวงฯ ได้สั่งปิดสนามบินตั้งแต่เวลาประมาณ 13:00 น. เพื่อตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารและรันเวย์ ก่อนกลับมาเปิดให้บริการภายใน 1 ชั่วโมง ขณะที่โครงสร้างถนนและสะพานต่าง ๆ มีการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน โดยจุดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ บริเวณทางขึ้น-ลง เชื่อมระหว่างทางด่วนกับถนนวิภาวดีรังสิต-ดินแดง ซึ่งมีเครนจากอาคารเอกชนพังลงมาทับ
นางสาวแพทองธาร เปิดเผยภายหลังการประชุมถึงตึกที่กำลังก่อสร้างพังถล่มลงมา โดยได้เร่งให้กรมโยธาธิการตรวจสอบและจะกลับมารายงานสาเหตุของที่พังทลายในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อเตรียมแผนรับมือ
“จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมากว่า 50 ครั้ง แต่ว่าเราไม่ได้รู้สึกกันแล้ว เพราะแรงสั่นจากอาฟเตอร์ช็อกน้อยลงเรื่อย ๆ รอบสุดท้ายประมาณเที่ยงคืนของเมื่อวานนี้ แน่นอนรัฐบาลจะเยียวยาและดูแลผู้ได้รับผลกระทบทุกอย่าง เหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่ใช่เหตุการณ์ขึ้นบ่อยในประเทศของเรา รัฐบาลจะใช้ทุกสรรพกำลังเพื่อที่จะดูแลประชาชนให้ปลอดภัยและให้ได้รับการเยียวยาให้เร็วที่สุด” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจาก ปภ. ณ เวลา 8:00 น. วันนี้ มีแผ่นดินไหวตามอาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) ขนาด 2.8 – 7.1 รวม 56 ครั้ง เบื้องต้นได้รับรายงานความเสียหาย 13 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิต จำนวน 9 ราย ผู้บาดเจ็บ จำนวน 9 ราย และผู้สูญหาย จำนวน 101 ราย ปัจจุบันมีประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานีและแพร่ ส่วน กทม. ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติเต็มพื้นที่