
ก.ล.ต. ผ่อนเกณฑ์เผยข้อมูลชั่วคราว รับผลกระทบ “ธรณีพิโรธ“ ครั้งประวัติศาสตร์
ก.ล.ต. ผ่อนปรนการนำส่งข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแล บริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ บริษัทที่ออกตราสารหนี้ รวมถึงผู้ออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล หลังรับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นครั้งประวัติศาสตร์
ผู้สื่อข่าวรายงาน จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล (ผู้ประกอบธุรกิจ) บริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รับทราบและเข้าใจถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงผ่อนผันการนำส่งข้อมูลและเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจและบริษัทดังกล่าวสามารถแจ้งขอผ่อนผันเพิ่มเติมได้ โดย ก.ล.ต. จะพิจารณาให้เป็นรายกรณี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และบริษัทจัดการลงทุน สืบเนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหยุดการซื้อขาย ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า อาจไม่สามารถจัดส่งรายงาน หรือคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (NAV) ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ก.ล.ต. จึงผ่อนผันการส่งรายงานที่ต้องนำส่งในวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 เป็นวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2568 และหากผู้ประกอบธุรกิจยังไม่สามารถจัดทำรายงานได้ตามกำหนดเวลาดังกล่าว ให้แจ้งขอผ่อนผันเพิ่มเติม พร้อมเหตุผลความจำเป็นให้ ก.ล.ต. พิจารณา
อนึ่ง เหตุการณ์ดังกล่าว อาจทำให้ลูกค้าที่ต้องวางหลักประกันในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพิ่มในวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ตามที่ผู้ประกอบธุรกิจตัวแทนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้เรียกในวันทำการก่อนหน้า ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจตัวแทนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าติดตามให้ลูกค้าดำเนินการดังกล่าวตามจำนวนเงินที่ต้องวางเพิ่ม ภายในวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2568 ก่อนตลาดปิดทำการ
นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าว อาจทำให้ลูกค้าที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการถือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ใกล้หมดอายุ (เดือนใกล้) มาเป็นสัญญาใหม่ที่มีอายุนานขึ้น (เดือนไกล) (rollover) สำหรับการซื้อขายแบบ spread ในวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ไม่สามารถดำเนินการได้ และส่งผลให้ถูกเรียกหลักประกันเพิ่ม ให้ผู้ประกอบธุรกิจตัวแทนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้ลูกค้าดังกล่าวสามารถเปิดฐานะสัญญาตามการซื้อขายแบบ spread ได้ในภาคการซื้อขายช่วงเช้า โดยยังไม่ต้องเรียกหลักประกันเพิ่มดังกล่าว ทั้งนี้ กรณีลูกค้าไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจตัวแทนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าติดตามให้ลูกค้าวางหลักประกันเพิ่มให้แล้วเสร็จภายในวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2568 ก่อนตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าปิดทำการ
สำหรับบริษัทจัดการลงทุนที่ต้องยกเลิกคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนที่ได้รับก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว หรือไม่สามารถคำนวณ NAV ได้ตามเวลาที่กำหนด ให้แจ้งให้ผู้ลงทุนทราบ และกำหนดเวลาประกาศ NAV ใหม่ให้ผู้ลงทุนทราบผ่าน website และแจ้งให้ ก.ล.ต. ทราบ
พร้อมกันนี้ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนทุกประเภท รวมทั้งผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding Portal) สามารถแจ้งขอผ่อนผันแบบรายงานผลการตรวจสอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและแผนการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง (แบบรายงานผล IT audit) และแบบ RLA (Risk Level Assessment)
ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้แผนสำรอง (BCP) สามารถให้พนักงานทำงานนอกสถานที่ (work from home) ได้ โดยปฏิบัติให้เป็นไปตามหนังสือเวียน ที่ กลต.นธ.(ว) 8/2563 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563* และแจ้งให้ ก.ล.ต. ทราบด้วย
2.บริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ที่ได้รับผลกระทบและไม่สามารถนำส่งแบบ 56-1 One Report ได้ทันตามกำหนด สามารถส่งหนังสือขอผ่อนผันต่อ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2568
โดยแสดงเหตุผลประกอบ รวมถึงระยะเวลาที่คาดว่าจะนำส่ง พร้อมทั้งให้บริษัทดังกล่าวเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวผ่านระบบ SETLink เพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบข้อมูลด้วย
3.บริษัทที่ออกตราสารหนี้ ที่ได้รับผลกระทบและไม่สามารถนำส่งรายงานตามมาตรา 56** ซึ่งจะครบกำหนดการนำส่งในวันที่ 31 มีนาคม 2568 ได้ทันตามกำหนด สามารถส่งหนังสือขอผ่อนผันต่อ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2568 โดยแสดงเหตุผลประกอบ รวมถึงระยะเวลาที่คาดว่าจะนำส่งรายงานได้ พร้อมทั้งให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้ผู้ลงทุนรับทราบด้วย
4.ผู้ออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถแจ้งขอผ่อนผันการนำส่งข้อมูลโดยแสดงเหตุผลประกอบ ดังนี้ 4.1) ผู้ออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO issuer) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 4.2) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แบบรายงาน*** ที่มีกำหนดต้องนำส่งต่อ ก.ล.ต. 4.3) ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) แบบรายงานผลการตรวจสอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและแผนการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง (แบบรายงานผล IT audit) และแบบ RLA (Risk Level Assessment)
ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายละเอียดช่องทางการส่งหนังสือและติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ตามเอกสารแนบ