
BCP ผนึก 5 พันธมิตร หนุนเชื้อเพลิง SAF ตั้งเป้ารับน้ำมันใช้แล้ว 3-4 หมื่นลิตรต่อวัน
BCP ผนึก ดีพร้อม 5 พันธมิตรธุรกิจ เสริมความร่วมมือสร้างเครือข่ายบริหารจัดการน้ำมันใช้แล้ว สู่เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF คาดมีปริมาณวัตถุดิบนํ้ามันใช้แล้วเข้าคลัง 3-4 หมื่นลิตรต่อวัน ตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG ตอบโจทย์การแก้ไขวิกฤตสภาวะ ภูมิอากาศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้เดินหน้าพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ โดยมอบหมาย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ผสานความร่วมมือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP และ 5 องค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศ เร่งขับเคลื่อนการส่งเสริมการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือที่เรียกว่า SAF ผ่านกลไกความร่วมมือ MOU “การบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว เพื่อนำมาผลิต น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน ตามนโยบาย Bio-Circular-Green Economy” เพื่อสร้างเครือข่ายในการบริหารจัดการโซ่อุปทานของน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบผลิต SAF ในเชิงพาณิชย์
โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมยกระดับ อุตสาหกรรมการบินไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่ง นายเอกนัฏ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่บางจากเข้าหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม “ประเด็นแนวทางความร่วมมือในการรวบรวมน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำมาผลิต SAF” ซึ่งทางกระทรวงได้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นว่าประเด็นดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายของ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและปรับบทบาทให้ประเทศไทยเป็นผู้เล่นสำคัญทาง เศรษฐกิจในเวทีโลก
รวมถึง การมุ่งมั่นสู่การเป็น ศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค ที่จะช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการในประเทศและช่วยเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลก อีกทั้งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการขับเคลื่อนนโยบาย “สู้ เซฟ สร้าง” ผ่านการปฏิรูปอุตสาหกรรม 3 แนวทาง ประกอบด้วย
ปฏิรูปที่ 1 “การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน” โดยปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ ปฏิรูปที่ 2 “Save อุตสาหกรรมไทย” ด้วยการสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs ปฏิรูปที่ 3 “การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่” ที่เป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม
โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ 5 หน่วยงาน ชั้นนำในแวดวงภาคธุรกิจ นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประเทศในทุกมิติ
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดทำแนวทางการส่งเสริมการผลิต SAF และศึกษาวัตถุดิบที่มีศักยภาพในการผลิต SAF โดยเฉพาะ UCO ตามแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทย รวมถึงเดินหน้าสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ พร้อมทั้งสนับสนุนการบริหารจัดการโซ่อุปทานของ UCO สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต SAF
โดยเป็นการลงนามใน MOU ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรภาคธุรกิจที่มีการใช้น้ำมันปรุงอาหาร ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA และ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อสร้างเครือข่ายและส่งเสริมการบริหารจัดการโซ่อุปทานของ UCO ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต SAF ในเชิงพาณิชย์รองรับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถลดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมจากการขนส่งทางอากาศ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้งตามนโยบาย Bio-Circular-Green Economy
นางสาวณัฏริญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ดีพร้อมได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณความต้องการใช้ (Demand) และกำลังการผลิตของผู้ผลิต SAF
รวมถึง ปริมาณแหล่งวัตถุดิบศักยภาพ (Supply) อาทิ น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (UCO) น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ผลิตผลจากอ้อย เช่น กากน้ำตาล (Molasses) และเพื่อหาแนวทางการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่จะช่วย ขับเคลื่อนการผลิต SAF จากวัตถุดิบศักยภาพในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับในระยะแรกของความร่วมมือภายใต้ MOU นี้ มุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกลไกการบริหารจัดการโซ่อุปทานของ UCO สำหรับการผลิต SAF ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ
โดยมีขอบเขตการดำเนินงานตั้งแต่ การประชาสัมพันธ์ แนะนำ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้และความตระหนักตลอดโช่อุปทานในกระบวนการรวบรวม UCO สู่การเพิ่มมูลค่าเป็น SAF ตามแนวทาง BCG Model อีกทั้ง ยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคครัวเรือนให้หันมาให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จาก UCO โดยไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและเกิดการจัดการอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่เพียงเป็นการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์การบินของประเทศ ยังส่งผลถึงความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มบริษัทบางจากได้ขานรับนโยบายของรัฐบาลในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และมีความยินดีที่หน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรภาคธุรกิจใหการสนับสนุนการผลิต SAF กุญแจสำคัญสูการลดคาร์บอนจากอุตสาหกรรมการบิน
โดยมีความพร้อมในฐานะผู้บุกเบิกการผลิต Neat SAF 100% ในประเทศไทยด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ภายใต้ระบบที่ได้รับการรับรองระดับสากล International Sustainability and Carbon Certfication (ISCC) ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต ไปจนถึงการขนส่ง อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญและจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน คือ 1) การสร้างความหลากหลายของวัตถุดิบสำหรับการผลิต SAF
2.) การกำหนดนโยบายภาครัฐที่ชัดเจนหรือ mandate เพื่อผลักดันการใช้ SAF ในประเทศโดยเร็ว จึงขอเสนอแนวทางต่อหน่วยงานภาครัฐในการ พิจารณา mandate เช่นการกำหนดสัดส่วนการใช้ SAF ในอุตสาหกรรมการบิน ควบคู่กับการออกมาตรการสนับสนุนหรือสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจ และจูงใจให้เกิดการลงทุนในระบบนิเวศของ SAF อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ไม่เพียงช่วยเพิ่มมูลค่าให้เศราฐกิจไทย แต่ยังสร้างโอกาสในการยกระดับประเทศไทย ให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาดของภูมิภาคในอนาคตได้
“หากประชาชนนำน้ำมันใช้แล้วมาขายให้กับปั๊มน้ำมันบางจาก ราคาที่ได้รับอาจแตกต่างกัน เนื่องจากคุณภาพของน้ำมันใช้แล้วไม่เหมือนกัน บางคนนำมาขายหลังจากทอดเพียงครั้งเดียว ขณะที่บางคนนำมาใช้ทอดทั้งวันหรือหลายวันก่อนจะนำมาขาย อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดการณ์ว่าจะมีวัตถุดิบจากน้ำมันใช้แล้วเข้าสู่ระบบประมาณ 30,000 – 40,000 ลิตรต่อวัน” นายชัยวัฒน์ กล่าว