“ทรีนีตี้” แนะทยอยสะสม 8 หุ้นเด่น เม.ย. เน้นธีม Defensive รับมือตลาดผันผวน

จับจังหวะลงทุนเม.ย. หุ้นไทยทรงตัวกรอบแคบ เผชิญแรงกดดันเศรษฐกิจโลก-เงินเฟ้อ แนะเลือกหุ้นกลุ่มพลังงาน-โรงพยาบาล-บริโภคพื้นฐาน ย้ำกลยุทธ์ “ทยอยสะสม” เน้นหุ้น Defensive รับมือความผันผวน


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้รวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นจากนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสะท้อนภาพรวมของแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในเดือนเมษายน 2568 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงสัญญาณของภาวะ Stagflation ที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของหลายประเทศทั่วโลก

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ในเดือนเมษายนนี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในลักษณะทรงตัวในกรอบแคบ โดยประเมินแนวรับที่ 1,150 จุด และแนวต้านที่ 1,190 จุด ซึ่งสะท้อนถึงภาวะที่ตลาดยังขาดปัจจัยบวกใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนดัชนีได้อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่มูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) ก็มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำจากความไม่มั่นใจของนักลงทุนที่เลือกชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์อย่างรอบคอบ

ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยกดดันหลักในช่วงนี้คือความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตชะลอในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมของตลาดทุนทั่วโลก

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมาแม้จะไม่มีผลกระทบในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แต่อาจสร้างแรงกดดันเชิงจิตวิทยาต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้างในระยะกลาง โดยเฉพาะในแง่ของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัจจัยลบจากภายนอก แต่ตลาดหุ้นไทยและตลาดเกิดใหม่ยังคงมีจุดแข็งที่ช่วยจำกัดความเสี่ยงด้านขาลง (Downside Risk) โดยเฉพาะในด้านของมูลค่าหุ้น (Valuation) ที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้ว

นอกจากนี้ยังมีแรงสนับสนุนจากนโยบายภายในประเทศ ทั้งในด้านการเงินและการคลัง ที่ยังคงมีความผ่อนคลายและมีแนวโน้มดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแตกต่างจากตลาดหลักอื่น ๆ ที่ยังเผชิญกับความเสี่ยงจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากกว่า

ด้านกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด แนะนำให้นักลงทุนทยอยสะสมหุ้นในช่วงที่ดัชนีอ่อนตัวลงบริเวณ 1,150-1,160 จุด ด้วยสัดส่วนการลงทุนประมาณหนึ่งในสามของเงินสดที่จัดสรรไว้ โดยให้ความสำคัญกับการบริหารพอร์ตอย่างมีวินัยท่ามกลางความผันผวนที่ยังคงสูง โดยเฉพาะในไตรมาส 2 นี้ คาดการณ์ว่าจะยังเห็นการโยกย้ายเม็ดเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยงไปยังสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง และภายในกลุ่มหุ้นเองก็มีแนวโน้มจะเห็นการสลับกลุ่มจากหุ้นประเภท Growth และ Technology มายังหุ้นประเภท Value และ Defensive ที่มีความมั่นคงของรายได้มากกว่า ซึ่งหุ้นไทยส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะหลัง จึงเป็นจุดแข็งที่นักลงทุนสามารถใช้เป็นกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงได้

สำหรับหุ้นแนะนำประจำไตรมาส 2 ปี 2568 ทรีนีตี้ได้คัดเลือกหุ้นเด่นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความมั่นคงสูงและมีแนวโน้มฟื้นตัวดีในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

กลุ่มพลังงาน ได้แก่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กลุ่มอาหารและการบริโภคพื้นฐาน เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF

กลุ่มโรงพยาบาล ได้แก่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS และบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH กลุ่มการเงินและอสังหาริมทรัพย์ เช่น บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP รวมถึงกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่าง 3BBIF และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ LHHOTEL โดยเน้นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ให้ผลตอบแทนมั่นคง และสามารถต้านทานความผันผวนของเศรษฐกิจได้ดี

นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน นักลงทุนยังควรติดตามปัจจัยสำคัญทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความคืบหน้าเรื่องภาษี Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ ที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นในวันที่ 2 เมษายน พร้อมทั้งจับตาปฏิกิริยาตอบโต้จากประเทศคู่ค้าที่อาจกระทบต่อบรรยากาศการค้าโลก

รวมถึงติดตามตัวเลขเศรษฐกิจโลกและสัญญาณของภาวะเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 17 เมษายน ที่คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยลง 0.25% และการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) วันที่ 30 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม ซึ่งคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม ด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายน ก็มีแนวโน้มจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เช่นกัน

ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังควรจับตาการเข้าซื้อขายของหุ้นบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULFI ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจส่งผลต่อกระแสเงินทุนและพฤติกรรมการลงทุนของตลาด รวมถึงติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มเติมจากภาครัฐ ซึ่งหากออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ก็อาจเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยประคองบรรยากาศการลงทุนในประเทศให้ดีขึ้นได้ในระยะต่อไป

Back to top button