โบรกหั่นคำแนะนำ “ขาย” KCE รับปัจจัยลบ “ภาษีนำเข้ารถสหรัฐ” ฉุดกำไรปีนี้เหลือ 1.5 พันล.

“บล.เมย์แบงก์” หั่นราคาเป้าหมาย KCE เหลือ 13.90 บาท หลังปรับลดคำแนะนำเป็น “ขาย” เนื่องจากประเมินผลกระทบเชิงโครงสร้างจากภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนสหรัฐฯ ว่าจะฉุดกำไรปี 68 ลดลง 24% เหลือ 1.5 พันล้านบาท


บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรับลดคำแนะนำสำหรับหุ้นบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE จาก “ซื้อ” เป็น “ขาย” พร้อมปรับลดราคาเป้าหมายลงเหลือ 13.90 บาท จากเดิม 27.00 บาท โดยให้เหตุผลหลักจากการปรับลดประมาณการกำไรหลักในปี 2568 ลง 24% เหลือ 1,500 ล้านบาท สะท้อนถึงแนวโน้มอุปสงค์ที่อาจหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้ารถยนต์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกโดยตรง

เมย์แบงก์ระบุว่า อย่างน้อย 50% ของรายได้ KCE มาจากกลุ่มลูกค้าในภาคยานยนต์สหรัฐฯ และยุโรป หากภาษีนำเข้ารถยนต์ถูกบังคับใช้อย่างถาวร บริษัทจะได้รับผลกระทบในระยะยาว ทั้งในด้านคำสั่งซื้อและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากภาษีนำเข้าชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งอาจครอบคลุมถึงแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของ KCE ด้วย

เดิมทีเมย์แบงก์เคยแนะนำ “ซื้อ” KCE เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ โดยชูจุดเด่นเรื่องมูลค่าหุ้นที่ถูกและผลตอบแทนจากเงินปันผลที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศพิจารณาจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนสูงสุดถึง 25% ซึ่งได้รับการยืนยันเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ทำให้บริษัทปรับมุมมองทันที โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และจะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ทั้งนี้ เมย์แบงก์คาดว่ายอดขายของ KCE (ในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐ) จะลดลง 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

แม้ KCE จะพยายามลดต้นทุนการผลิตเพื่อบรรเทาผลกระทบ แต่เมย์แบงก์มองว่าภาษีดังกล่าวจะกระทบต่อซัพพลายเชนยานยนต์โดยตรง โดยเฉพาะส่วนที่เชื่อมโยงกับตลาดสหรัฐฯ สำหรับแนวโน้มระยะยาว บริษัทคาดว่ากำไรหลักของ KCE ในช่วงปี 2567-2572 จะเติบโตเฉลี่ยเพียง 2.0% ต่อปี (CAGR) ซึ่งต่ำกว่าอัตราเฉลี่ย 10.3% ในช่วงปี 2562-2567 อย่างมาก สะท้อนความท้าทายในการเติบโตในอนาคต

เมย์แบงก์ยังระบุว่า ปัจจุบันการประเมินของบริษัทยังไม่ได้รวมผลกระทบจากภาษีเซมิคอนดักเตอร์อย่างเป็นทางการ เนื่องจากคำจำกัดความของสินค้าดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณา หาก PCB ถูกจัดให้อยู่ในหมวดสินค้าที่ต้องเสียภาษีเพิ่มเติม จะยิ่งกดดันต้นทุนของผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ และอาจส่งผลต่อคำสั่งซื้อจาก KCE ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่อาจช่วยหนุนแนวโน้มของ KCE ในอนาคต ได้แก่ การยกเลิกหรือผ่อนคลายมาตรการภาษีนำเข้า รวมถึงความต้องการที่แข็งแกร่งของแผงวงจร PCB HDI จากการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในยุโรป

Back to top button