
“ดาวโจนส์” ร่วง 200 จุด นักลงทุนระส่ำก่อน “ทรัมป์” ประกาศเก็บภาษีตอบโต้ทั่วโลก
“ตลาดหุ้นสหรัฐ” ผันผวนหนัก นักลงทุนเทขายลดเสี่ยงรอ “ทรัมป์” ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ทั่วโลก หวั่นกระทบการค้าและเศรษฐกิจโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลงอย่างหนักกว่า 200 จุดในการซื้อขายช่วงค่ำของวันที่ 1 เมษายน ตามเวลาไทย โดยล่าสุด ณ เวลา 20.35 น. ดัชนีดาวโจนส์อยู่ที่ระดับ 41,742.58 จุด ลดลง 247.38 จุด หรือคิดเป็น 0.59% โดยนักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงและรอความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เตรียมประกาศในวันนี้
ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า วันที่ 2 เมษายนจะเป็น “วันแห่งการปลดปล่อยของสหรัฐ” พร้อมเตรียมประกาศเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ต่อทุกประเทศที่มีการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐ โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในทันทีทั่วโลก และถือเป็นการเก็บภาษี “ครั้งใหญ่” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการค้าระหว่างประเทศ
โดยการประกาศมาตรการจะมีขึ้นในวันพุธที่ 2 เมษายน เวลา 16.00 น. ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับเวลา 03.00 น.ของวันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน ตามเวลาไทย ภายในงาน “Make America Wealthy Again” ซึ่งจัดขึ้นที่ลานโรส การ์เดน บริเวณนอกทำเนียบขาว
รายงานจากหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ โดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า มาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐอาจมีการจัดเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 20% ต่อสินค้าส่วนใหญ่ที่นำเข้าสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่ารวมราว 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ โดยประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐ อาทิ จีน สหภาพยุโรป เม็กซิโก เวียดนาม และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย
ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า ทำเนียบขาวกำลังพิจารณาทางเลือก 3 แนวทางในการจัดเก็บภาษีตอบโต้ ได้แก่ การเก็บภาษีในอัตราเดียวกันที่ 20% ต่อทุกประเทศคู่ค้า, การเก็บภาษีแตกต่างกันตามลักษณะการตั้งกำแพงภาษีของแต่ละประเทศ และการเก็บภาษีเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีพฤติกรรมไม่เป็นธรรมในการค้า โดยใช้อัตราที่ต่ำกว่า 20% ซึ่งทางสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เป็นผู้เสนอแนวทางดังกล่าว
นักวิเคราะห์มองว่าการดำเนินมาตรการภาษีตอบโต้ในครั้งนี้ อาจสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายการเงินที่ตึงตัวทั่วโลก