“ซินเคอหยวน” โต้เดือด “อุตสาหกรรม” หลังลงพื้นที่ตรวจโรงงาน ไม่เชื่อผลตรวจสถาบันเหล็ก

“สมอ.” ตรวจสอบโรงงานเหล็ก “ซินเคอหยวนสตีล” ใน จ.ระยอง หลังพบเหล็กที่ใช้สร้างอาคาร สตง. ไม่ได้มาตรฐาน พร้อมเร่งตรวจซ้ำ ด้านตัวแทนบริษัทโต้เดือดไม่เชื่อผลตรวจสถาบันเหล็ก พร้อมขอให้สถาบันยานยนต์ร่วมตรวจสอบ


นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตเหล็กของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ณ ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง หลังมีการตรวจพบว่าเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มม. และ 32 มม. ที่นำไปใช้ในอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยของกลางน้ำหนักรวม 2,441 ตัน มูลค่ากว่า 50.1 ล้านบาท ได้ถูกอายัดไว้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2568

จากการตรวจสอบข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของโรงงานในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2568 พบว่า ค่าไฟฟ้าลดลงจากระดับ 130 ล้านบาทต่อเดือนในอดีต เหลือเพียงระดับหลักแสนถึงล้านบาท ซึ่งบริษัทชี้แจงว่าไม่มีการแอบผลิต แต่ยังคงมีภาระจ่ายไฟฟ้าในอัตราขั้นต่ำตามที่ขอใช้ไฟฟ้าแรงสูงไว้ โดยต้องชำระไม่ต่ำกว่า 6.4 ล้านบาทต่อเดือน รวมภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

ในด้านการติดตามเส้นทางเหล็กที่ใช้ในอาคาร สตง. บริษัทระบุว่าไม่ได้ขายเหล็กโดยตรงให้กับหน่วยงานรัฐ แต่ผ่านตัวแทนจำหน่าย ซึ่งไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเหล็กล็อตใดถูกส่งต่อไปยังผู้รับเหมาก่อสร้าง ขณะเดียวกัน สมอ. ยังพบว่าเหล็กที่ถูกอายัดไว้มีการติดป้าย มอก. (ป้ายสีน้ำเงิน) ซึ่งขัดแย้งกับผลตรวจที่ชี้ว่าเหล็กดังกล่าวไม่ได้มาตรฐาน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมแจ้งข้อหาผลิตและติดฉลาก มอก. โดยไม่เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด และอาจถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมหากพบว่ามีการจำหน่ายสินค้าไปยังท้องตลาด

ตัวแทนบริษัทเสนอให้มีการนำเหล็กไปตรวจเพิ่มเติมกับสถาบันยานยนต์ โดยเฉพาะการวัดค่าธาตุโบรอน (Boron) ซึ่งโรงงานเชื่อว่าจะให้ผลแม่นยำกว่า อย่างไรก็ตาม สมอ. ยืนยันว่าผลตรวจจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ยังคงชี้ชัดว่าเหล็กของโรงงานไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน แม้บริษัทจะยื่นอุทธรณ์แล้วก็ตาม

ขณะเดียวกัน ภายในโรงงานยังพบเศษเหล็ก (scrap) ปริมาณมากถูกกักเก็บไว้ในโกดังถึง 3-4 แห่ง จากการหยุดการผลิตต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมดำเนินการตัดตัวอย่างเหล็กเพิ่มเติมในหลากหลายขนาดเพื่อนำไปตรวจซ้ำอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่าโรงงานไม่มีสิทธิเคลื่อนย้ายหรือส่งเหล็กออกไปตรวจด้วยตนเอง

สถานการณ์ครั้งนี้ถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะในโครงการที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการตรวจสอบเพื่อคุ้มครองประชาชนจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Back to top button