
เปิดหุ้น “กลุ่มส่งออก-ยานยนต์” เสี่ยงกระทบหนักสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36%
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศบังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้าครั้งประวัติศาสตร์ สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลก ไทยถูกเก็บภาษีสูงถึง 36% กระทบหนักต่อหุ้นส่งออก ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนเศรษฐกิจไทยเสี่ยงถูกปรับลดคาดการณ์ GDP
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้แถลงข่าวที่ทำเนียบขาว เปิดฉากสงครามการค้า (เทรดวอร์) ประกาศบังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้าชุดใหม่ที่สั่นสะเทือนโลกการค้า โดยเริ่มจากการเก็บ “ภาษีพื้นฐาน” (Baseline Tariff) ในอัตรา 10% สำหรับสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าสหรัฐฯ จากทั่วโลก โดยจะเริ่มมีผลในเวลา 00:01 น. วันที่ 5 เม.ย.นี้ ตามเวลาท้องถิ่น
นอกจากนี้ ยังประกาศใช้ “ภาษีต่างตอบแทน” (Reciprocal Tariff) ต่อประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอย่างรุนแรง โดยอิงจากอัตราภาษีที่ประเทศเหล่านั้นเคยเก็บกับสหรัฐฯ และจะเก็บภาษีในอัตราครึ่งหนึ่งของภาษีนั้น
หนึ่งในประเทศที่ถูกกระทบหนักที่สุดคือ ประเทศไทย ซึ่งโดนตั้งกำแพงภาษีสูงถึง 36% ขณะที่กัมพูชา 49% , ลาว 48% ,เวียดนามโดน 46% และเมียนมา 44% ขึ้นแท่นประเทศที่ถูกเก็บภาษีสูงที่สุดอับดับต้นๆในมาตรการนี้
ทรัมป์ระบุว่า มาตรการครั้งนี้ถือเป็น “วันปลดแอก” สำหรับอุตสาหกรรมของอเมริกา เพราะที่ผ่านมาอเมริกาถูกปล้น ถูกช่วงชิง และถูกขโมยจากทั้งเพื่อนและศัตรู ตอนนี้ถึงเวลาทวงคืนโชคชะตาให้กับอเมริกาแล้ว
รายชื่อประเทศและอัตราภาษีต่างตอบแทน ที่จะมีผลตั้งแต่ 9 เม.ย.นี้ มีมากกว่าสามสิบประเทศ อาทิ จีน 34% ,อินโดนีเซีย 32% ,อินเดีย 26% ,เกาหลีใต้ 25% ,ญี่ปุ่น 24% , สหภาพยุโรป 20% และฟิลิปปินส์ 17%
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังประกาศว่า มาตรการภาษีนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศที่อัตรา 25% จะมีผลบังคับใช้ทันทีหลังเที่ยงคืนวันที่ 2 เม.ย. 2568 ตามเวลาท้องถิ่น
บริษัท หลักทรัพย์ กรุง ไทย เอ็กซ์ สปริง จำกัด ระบุว่า ไทยถูกขึ้นภาษี reciprocal tariff จากสหรัฐสูงถึง 36% เทียบกับ China 34% EU 20% Vietnam ที่ 46%
ทั้งนี้ การขึ้นจะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ขึ้นอัตรา 10% กับทุกประเทศ เริ่มวันที่ 5 เมย และวันที่ 9 เมย จะขึ้นในส่วนที่เหลือตามอัตรา reciprocal tariff รายประเทศ (เช่นขึ้นอีก 26% กรณีไทย) เบื้องต้นคาดเป็นผลลบต่อ Sentiment ตลาดฯโดยเฉพาะหุ้นส่งออก และเป็นความเสี่ยงต่อการปรับลด GDP ปี 2025
อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าสหรัฐน่าจะยังเปิดช่องสำหรับการเจรจา จากการเว้นช่วงเวลาในการบังคับใช้ ขณะที่การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า จะส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเองด้วย
ทั้งนี้ มีรายละเอียดผลกระทบรายหุ้น ที่รวบรวมมา ดังนี้ TU มีรายได้ในตลาด US ราว 40% (ผ่านธุรกิจทูน่ากระป๋อง, กุ้งและอาหารทะเลแช่แข็ง และPetfood) โดยเป็นการส่งออกจากไทยไป US ราว 15% ในส่วนนี้อาจได้รับผลกระทบเชิงลบด้านความสามารถการแข่งขันจากอัตราภาษีที่เพิ่ม
ITC 50% ของรายได้มาจาก Americas (US Canada Brazil and others) ,AAI 52% ของรายได้มาจาก US, STGT 20% ของรายได้มาจาก US, ITC, AAI อาจได้รับผลกระทบด้านการแข่งขันจากผู้ผลิตในสหรัฐฯที่เดิมต้นทุนสูงกว่าผู้ผลิตไทย, STGT อาจได้รับผลกระทบจากการที่คู่แข่งหลักอย่างมาเลเซียถูกขึ้นภาษีตํ่ากว่าไทย 12%, SAPPE มียอดขายส่งออกไป US 7%
บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จากกรณีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีเหนือกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ไทยเสี่ยงเผชิญกับการปรับลดประมาณการทั้งกำไรและเศรษฐกิจ กลยุทธ์หากไม่เร่งร้อนลงทุนยังแนะ Wait & See ระยะสั้นเน้น Defensive (BDMS)
โดยตลาดหุ้น Dow Jones เมื่อคืนปิดบวก 0.56% ท่ามกลางการซื้อขายที่เป็นไปอย่างผันผวนก่อนที่ Trump จะเปิดเผยมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ ด้านราคาน้ำมันดิบ BRT ปิดบวก 0.6% ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของ US Dollar ขณะที่นักลงทุนจับตาการประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้
ภายหลังจากตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดทำการพบว่า Trump ได้แถลงรายละเอียดด้านภาษี พบว่ารุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์โดยเฉลี่ยประเมินไว้ โดยเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากหลายๆประเทศรวมกันกว่า 50 ประเทศ มากกว่าที่นักวิเคราะห์โดยเฉลี่ยประเมินว่าจะเรียกเก็บเพียง 15 ประเทศ นำมาโดยจีนถูกเรียกเก็บเป็น 34% EU 20% เวียดนาม 46% ไต้หวัน 32% และไทย 36%
ปัจจุบันไทยส่งออกหลักไปยังสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนราว 18% (ข้อมูล ณ 2M25) และสินค้าหลักๆที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯได้แก่อิเล็กทรอนิกส์ (31% ของสัดส่วน) เครื่องจักร (24%) ยาง (9%) ชิ้นส่วนยานยนต์ (4%) และอื่นๆ ประเมินหุ้นที่อาจได้รับผลกระทบประกอบไปด้วย AH, SAT, STA, HANA, DELTA, KCE และกลุ่มอื่นๆอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมได้แก่ท่องเที่ยว (AOT, CETEL ,MINT) ค้าปลีก (BJC ,CRC, CPALL , HMPRO) ธนาคารพาณิชย์ (BBL KBANK KTB) นิคม (WHA) จากเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงขาลงมากขึ้นประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจชะลอการท่องเที่ยวจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ โดยเศรษฐกิจไทยเสี่ยงจะถูกปรับคาดการณ์ลงจากเดิมทีที่สภาพัฒน์คาดการณ์จะขยายตัวได้ราว 2.8%YoY ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวก็เป็นไปได้ที่จะน้อยกว่าเป้าหมายที่ประเมินไว้ ด้านการบริโภคก็จะรับผลกระทบทางอ้อมผ่านการส่งออกและการท่องเที่ยว สุดท้ายแล้วกำไรบริษัทจดทะเบียนอาจถูกปรับลง
หุ้นไทยแม้ปัจจุบันจะไม่แพงค่อนข้างถูกมากแต่เมื่อเผชิญกับแรงกดดันรอบด้านทั้งเรื่องเศรษฐกิจภายในที่ย่ำแย่ พร้อมกับแรงกดดันจากต่างประเทศทำให้หุ้นไทยยังมีแนวโน้มปรับลงได้อยู่ ซึ่งอาจตามมาด้วยการปรับลด Multiple Valuation การปรับขึ้นภาษีครั้งนี้อาจไม่มีหุ้นได้ประโยชน์มีแต่หุ้นที่ผลกระทบน้อยสุดประกอบไปด้วยกลุ่ม Defensive อาทิ สื่อสาร (ADVANC INTUCH) โรงพยาบาล (BDMS)
โดยวันนี้ประเมิน SET INDEX ปรับลงในกรอบ 1140 – 1170 รับแรงกดดันจากภาษีสหรัฐฯประกอบกับตลาดหุ้นญี่ปุ่นเคลื่อนไหวในแดนลบ (-4%) เกาหลีใต้ (-1.87%) โดยเช้านี้เงินบาทอ่อนค่าทดสอบระดับ 34.4 บาท / ดอลลาร์สหรัฐฯ ในเชิงกลยุทธ์การลงทุนยังไม่เร่งร้อนเข้าสะสมหุ้นเพราะความเสี่ยงยังค่อนข้างสูงและจากนี้เตรียมเผชิญแรงกดดันจากการปรับลดประมาณการ ระยะสั้นหากประสงค์ลงทุนก็เน้นเพียง Defensive อาทิ โรงพยาบาล (BDMS)
บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ระบุว่า มาตรการภาษีนำเข้าใหม่ของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ถูกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตรา 36% ดังนี้
ยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ได้รับผลกระทบเชิงลบ เนื่องจากไทยส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐฯ คิดเป็น 9% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมด และ 6% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ หุ้นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ AH, SAT, STANLY, NYT รวมถึงกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง เช่น KCE, DELTA, HANA
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบเชิงลบ หุ้นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ DELTA, HANA, KCE
ยางและผลิตภัณฑ์ยาง กระทบต่ออุตสาหกรรมยางและถุงมือยางโดยตรง หุ้นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ STA, STGT ซึ่งมีการส่งออกไปสหรัฐฯ โดยตรง ขณะที่ NER ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากลูกค้าจีนที่ส่งออกยางไปยังสหรัฐฯ
สินค้าเกษตร ได้รับผลกระทบเชิงลบ โดยเฉพาะสินค้าประเภท ข้าว, อาหารสัตว์เลี้ยง, ทูน่าและผลิตภัณฑ์ทูน่า, กุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้ง, มะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าว, สับปะรดกระป๋อง หุ้นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ TU, CFRESH, COCOCO, PLUS, MALEE, AAI, ITC
อัญมณีและเครื่องประดับ กระทบต่อผู้ส่งออกเครื่องประดับ หุ้นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ PDJ
นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการลงทุนและเศรษฐกิจไทย โดยอาจนำไปสู่การชะลอการลงทุนและการขอสินเชื่อเพื่อส่งออก ส่งผลให้เกิด Sentiment เชิงลบต่อบรรยากาศการลงทุน โดยมีผลกระทบสำคัญใน 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
นิคมอุตสาหกรรม ลูกค้าอาจชะลอการตัดสินใจซื้อที่ดิน หรือในกรณีร้ายแรงอาจส่งผลกระทบต่อ Backlog บางส่วน หุ้นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ AMATA, WHA, FTREIT (ความต้องการเช่าโรงงานและคลังสินค้าลดลง)
ธนาคาร ได้รับผลกระทบทางอ้อมในแง่อัตราการเติบโตของสินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์ที่อาจลดลงเล็กน้อย