“สมภพ มานะรังสรรค์” มอง “ทรัมป์” ใช้มาตรการภาษีเป็น “อาวุธ” ให้ทุกชาติศิโรราบสหรัฐ

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ มองมาตรการทางภาษี “ต่างตอบแทน” ของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ มีความแยบยล นอกจากจะเป็นเครื่องมือจัดการดุลการค้ากับประเทศคู่ค้าแล้ว ยังใช้เป็น “อาวุธ” บังคับให้ประเทศต่าง ๆ ปรับตัวตามแนวทางของสหรัฐฯ โดยไม่ต้องใช้กองทัพ


เปิดฉากมาตรการภาษีใหม่!! สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ “โดนัลด์ ทรัมป์” กำลังพลิกโฉมระบบเศรษฐกิจโลก และนโยบายนี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือกดดันทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ที่ไม่เพียงสั่นสะเทือนตลาดการค้าทั่วโลก แต่ยังกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ทรงพลังที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยที่สหรัฐฯ ไม่ต้องใช้กระสุนจริงแม้แต่นัดเดียว

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์ผ่านรายการ Money Chat Thailand ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประกาศ มาตรการภาษีศุลกากร “ต่างตอบแทน” ของสหรัฐฯ จะมีลักษณะเป็นภาษี “สามชั้น” (Three-Tier Tariffs) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “สามชิ่ง” โดยชิ่งแรกคือ ภาษีนำเข้า 10% ที่บังคับใช้กับสินค้าจากทุกประเทศทั่วโลก เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.68

ชิ่งที่ 2 คือ มาตรการตอบโต้ทางภาษีที่พุ่งเป้าไปยัง 60 ประเทศ ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.68 และชิ่งที่ 3 มิติทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่สะท้อนถึงการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือกดดันประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน

รศ.ดร.สมภพ ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ใช้วิธีการกำหนดอัตราภาษีที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนสำหรับแต่ละประเทศ ไม่เพียงหวังผลด้านเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองและความมั่นคงของสหรัฐฯ ด้วย ตัวอย่างเช่น กัมพูชา (49%), สปป.ลาว (48%) และเมียนมา (44%) ถูกกำหนดอัตราภาษีในระดับสูง แม้จะไม่ได้เป็นผู้เล่นหลักในการค้ากับสหรัฐฯ แต่ประเทศเหล่านี้สะท้อนถึงการเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับจีน

ขณะที่เวียดนาม (46%) ถูกจัดเก็บภาษีสูง เนื่องจากเป็นจุดหมายหลักที่จีนอาจใช้เป็นฐานการผลิตสำรอง ขณะที่มหามิตรของอเมริกาในอาเซียน อย่าง ฟิลิปปินส์ (17%) และสิงคโปร์ (10%) ได้รับอัตราภาษีที่ต่ำกว่ามาก

“จะเห็นความเหลื่อมล้ำในอัตราภาษีอย่างชัดเจน ที่ไม่มีอะไรชัดเจนไปมากกว่านี้แล้ว เพราะชาติเหล่านี้อเมริกาหมายหัวทางด้านการเมืองแต่แรกแล้ว” รศ.ดร.สมภพ กล่าว.

เบื้องหลังมาตรการภาษีสหรัฐฯ: อะไรอยู่เบื้องหลังตัวเลข?

ในการแถลงมาตรการภาษีใหม่จะเห็นได้ว่า ผู้นำสหรัฐฯ ได้แสดงตัวเลขที่เรียกว่า Tariffs Charged to the U.S.A. ที่สหรัฐฯ ใช้ในการคำนวณอัตราภาษี โดยไม่ได้พิจารณาเพียงแค่ตัวเลขภาษีนำเข้าโดยตรง แต่รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น การบิดเบือนค่าเงินเพื่อให้ได้เปรียบทางการค้า, อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายในประเทศ, การอุดหนุนภาคการส่งออก และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

เมื่อรวมปัจจัยเหล่านี้เข้าด้วยกัน สหรัฐฯ อ้างว่าอัตราภาษีที่เรียกเก็บจากแต่ละประเทศที่สูงกว่าปกติเป็น “ค่าชดเชย” สำหรับนโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม และยังมีความเป็นไปได้ที่อัตราภาษีอาจเพิ่มขึ้นเต็มที่ หากการเจรจากับประเทศต่าง ๆ ไม่เป็นผล

America First” และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

รศ.ดร.สมภพ กล่าวด้วยว่า หนึ่งในเป้าหมายหลักของนโยบายภาษีใหม่ คือ การกดดันให้บริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะจาก ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ย้ายฐานการผลิตกลับไปยังสหรัฐฯ โดยญี่ปุ่นถูกเก็บภาษี 24% ส่งผลให้การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทำได้ยากขึ้น นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษีรถยนต์เพิ่มเติม ซึ่งจะบีบให้บริษัทญี่ปุ่นต้องพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐฯ ขณะที่เกาหลีใต้ได้รับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ตอบรับกับนโยบายพลังงานของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในเรื่องพลังงานและอุตสาหกรรมไฮเทค

“ภาษีใหม่ของสหรัฐฯ เชื่อมโยงกับนโยบายต่างประเทศว่า ต่อไปนี้สหรัฐฯ จะทำให้ชาติต่าง ๆ ทั่วโลกมาเชื่อฟังตนเอง มาสยบ โดยไม่ใช้กองทัพ” รศ.ดร.สมภพ กล่าว.

รศ.ดร.สมภพ มองว่า นโยบายนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือทางเศรษฐกิจ แต่เป็น “อาวุธ” ที่ใช้บังคับให้ประเทศต่าง ๆ ปรับตัวตามแนวทางของสหรัฐฯ โดยไม่ต้องใช้กองทัพ และลดการส่งเงินให้ความช่วยเหลือทางทหาร เช่น เพิ่มแรงกดดันให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ต้องแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาค เชื่อว่าเรื่องนี้ยังจะสร้างความปั่นป่วนทางการเมือง จะเป็นการปั่นป่วนครั้งใหญ่ ทะเลาะระหว่างประเทศและยังทะเลาะภายในประเทศกันเองด้วย

ภาษีใหม่ของสหรัฐฯ ไม่เพียงสะท้อนถึงแนวทางของสหรัฐฯ ที่ต้องการควบคุมระเบียบโลกผ่านกลไกทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มาตรการนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่แห่งความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ นับจากนี้ทิศทางเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปเช่นไร ประเทศต่าง ๆ จะตอบโต้แบบไหน อย่างไร ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

Back to top button