ตลท. เปิดตัวเลข “นักลงทุนต่างชาติ” ถือหุ้นไทยปี 67 เพิ่ม 14.2% มูลค่าแตะ 5.83 ล้านลบ.

นักลงทุนต่างชาติถือครองหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 14.2% ณ สิ้นปี 2567 มูลค่ารวมแตะ 5.83 ล้านล้านบาท ปัจจัยหนุนมาจากราคาหุ้นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ปรับตัวขึ้นและการเข้าซื้อหุ้นบางบริษัทเพิ่ม


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า หากพิจารณาการปลี่ยนแปลงของมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ ณ สิ้นปี 2567 มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 14.2% จากสิ้นปี 2566 สาเหตุสำคัญจากราคาหลักทรัพย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่และการถือครองเพิ่มขึ้นในบริษัทจดทะเบียนบางบริษัท สวนทางกับ SET Index ที่ลดลง 1.1% ส่งผลให้สัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศต่อมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมทั้งตลาด (market cap) ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ระดับ 33.82% เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2566 ที่อยู่ที่ระดับ 29.39%

โดยในปี 2567 นักลงทุนต่างประเทศมีมูลค่าการซื้อขายรวมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (ตลาดหุ้นไทย) รวมกว่า 11.36 ล้านล้านบาท คิดเป็น 50.04% ของมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งหมดในตลาดหุ้นไทย โดยนักลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุด (เมื่อเทียบกับนักลงทุนประเภทอื่นๆ) ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 หรือสูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เมื่อนับจากปี 2565 และพบว่าสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนสูงกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการซื้อขายรวมของทั้งตลาดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

จากการศึกษาข้อมูลการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ  ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (ตลาดหุ้นไทย) พบว่า ณ สิ้นปี 2567 นักลงทุนต่างประเทศถือครองหุ้นของบริษัทจดทะเบียน 868 หลักทรัพย์ มีมูลค่าการถือครองหุ้นรวม 5.83 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 33.82% ของมูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งตลาด ขณะที่ ณ สิ้นปี 2566 นักลงทุนต่างประเทศถือครองหุ้นของบริษัทจดทะเบียน 832 หลักทรัพย์ มีมูลค่าการถือครองหุ้นรวม 5.11 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 29.39% ของมูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งตลาด

หากเปรียบเทียบข้อมูลการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ ณ สิ้นปี 2567 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2566 พบว่า

  • ณ สิ้นปี 2567 นักลงทุนต่างประเทศถือครองหลักทรัพย์ใหม่ 55 หลักทรัพย์ ซึ่ง 34 จากทั้งหมด 55 หลักทรัพย์ (ประมาณ 62%) เป็นหลักทรัพย์ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ในปี 2567 และอีก 21 หลักทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายในตลาดอยู่แล้ว
  • ในทางกลับกันพบว่า มีหลักทรัพย์ 14 หลักทรัพย์ที่นักลงทุนต่างประเทศมีการถือครองหุ้นอยู่ ณ สิ้นปี 2566 แต่กลับไม่มีในพอร์ตของนักลงทุนต่างประเทศ ณ สิ้นปี 2567 ซึ่งทั้งหมดเป็นหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่เพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในปี 2567

  • สำหรับหลักทรัพย์ที่นักลงทุนต่างประเทศถือครองหุ้นต่อเนื่อง 813 หลักทรัพย์ พบว่า 222 หลักทรัพย์มีมูลค่าการถือครองหุ้นเพิ่มขึ้น ขณะที่ 591 หลักทรัพย์มีมูลค่าการถือครองหุ้นลดลง และเมื่อพิจารณาสาเหตุหลักที่ทำให้มูลค่าการถือครองหุ้นโดยรวมเพิ่มขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาหลักทรัพย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่และการถือครองเพิ่มขึ้นในบริษัทจดทะเบียนบางบริษัท

หากเปรียบเทียบมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศ ในปี 2567 (11.36 ล้านล้านบาท) กับมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ ณ สิ้นปี  2567 (5.83 ล้านล้านบาท) พบว่า นักลงทุนต่างประเทศมีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 1.95 เท่าของมูลค่าการถือครองหุ้น  (ลดลงจากปี 2566 ที่อยู่ระดับ 2.5 เท่า)

เมื่อพิจารณามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศ ในปี 2567 จำแนกกลุ่มหลักทรัพย์ตามสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น (voting right) พบว่า 56.8% ของมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศในปี 2567 เป็นการซื้อขาย local shares และ  42.3% เป็นการซื้อขาย NVDR และมีการซื้อขาย foreign shares เพียง 0.9% เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนต่างประเทศยังมีพฤติกรรมการซื้อขายเหมือนกับปีที่ผ่านๆ มา กล่าวคือ นักลงทุนต่างประเทศซื้อขายในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำกำไรระยะสั้น

เมื่อพิจารณามูลค่าการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ พบว่า ในปี 2567 นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิรวม 146,906 ล้านบาทในตลาดหุ้นไทย ซึ่งพบว่า นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 149,837 ล้านบาท ใน local shares และขายสุทธิ 38,786 ล้านบาท ใน foreign shares แต่ในขณะเดียวกันมีการซื้อสุทธิในส่วนของ NVDR 41,717 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนขายสุทธิในส่วนของเงินลงทุนระยะสั้น แต่ซื้อสุทธิสำหรับการลงทุนระยะสั้นและระยะกลางใน NVDR ขณะที่ขายสุทธิใน Foreign shares เล็กน้อยเนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น

ดังนั้น จากข้อมูลของนักลงทุนต่างประเทศทั้งจากการถือครองหุ้นและการซื้อขายหุ้น สรุปได้ว่า ณ สิ้นปี 2567 พอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยมีขนาดเพิ่มขึ้นโดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาหลักทรัพย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่และการถือครองเพิ่มขึ้นในบริษัทจดทะเบียนบางบริษัท ขณะที่ข้อมูลการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศจำแนกกลุ่มหลักทรัพย์ตามสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น สะท้อนว่า นักลงทุนต่างประเทศซื้อขายเพื่อทำกำไรระยะสั้นผ่าน local shares และขายสุทธิใน foreign shares เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น

Back to top button