
“เจพีมอร์แกน” ชี้ สหรัฐขึ้นภาษีทั่วโลก ดัน “เงินเฟ้อ” ปีนี้พุ่ง 1.5% ฉุดเศรษฐกิจถดถอย
JP Morgan ประเมินภาษีศุลกากรใหม่ดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปี 68 สูงขึ้น 1-1.5% และอาจเจอความเสี่ยงเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้
บริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน จำกัด (JP Morgan) เปิดเผยบทวิเคราะห์วันนี้ (3 เมษายน 2568) ระบุว่า การประกาศมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ในวันเดียวกันนี้ อาจสร้างรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นราว 1.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มอัตราภาษีครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สหรัฐฯ บังคับใช้กฎหมาย Revenue Act เมื่อปี 1968
ฝ่ายวิเคราะห์ของ JP Morgan ชี้ว่า มาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) อาจปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 1-1.5% ภายในปี 2568 โดยผลกระทบจะเริ่มปรากฏชัดเจนในช่วงกลางปี ทั้งนี้ ความร้อนแรงของเงินเฟ้อจะกดดันต่อกำลังซื้อของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ การลดลงของกำลังซื้ออาจส่งผลให้การเติบโตของรายได้ส่วนบุคคลที่แท้จริง (real disposable personal income) ติดลบในไตรมาส 2 ถึง 3 และนำไปสู่การหดตัวของการใช้จ่ายผู้บริโภคในเชิงปริมาณ (real consumer spending) ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย โดยยังไม่ได้นับรวมผลกระทบเพิ่มเติมจากการส่งออกและการลงทุนที่อาจอ่อนตัวตามมา
ขณะเดียวกัน รายงานการเตรียมมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณชัดเจนมากขึ้น และคาดว่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติมเผยแพร่ออกมาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกรอบระยะเวลาในการบังคับใช้มาตรการภาษีฉบับใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการภาษีอาจช่วยลดความไม่สมดุลของดุลบัญชีเดินสะพัด และความเหลื่อมล้ำระหว่างอัตราการออมกับการลงทุนในระยะยาว แต่ผลกระทบในระยะสั้นอาจทำให้บรรยากาศการลงทุนยิ่งเปราะบางมากขึ้น โดยบริษัทจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและมีแผนทบทวนประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งภายในสัปดาห์นี้