“กวินพัฒน์” เปิด 4 แนวทาง แก้วิกฤตเหล็กไร้มาตรฐาน ทะลักเข้าไทย

นายกวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์ เสนอ 4 แนวทาง แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล็กไร้มาตรฐานทะลักเข้าไทย ลดผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (3 เม.ย.68) นายกวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญจากแรงกดดันของการแข่งขันด้านราคาและกระแสการนำเข้าสินค้าเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานเข้าสู่ตลาดภายในประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อย ซึ่งมีการผลิตเพิ่มขึ้นจากระบบเตาหลอมเหนี่ยวนำ หรือ Induction Furnace (IF) แม้ว่าเทคโนโลยี IF จะมีข้อดีในด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ แต่กลับมีข้อจำกัดในด้านการควบคุมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เหล็กที่ได้มีความไม่สม่ำเสมอ และมีความเปราะ ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการนำไปใช้ในโครงสร้างสำคัญที่ต้องรองรับแรงและการสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่อง จะเหมาะไปใช้สำหรับทำรั้วบ้าน การหล่อพระ หรือสิ่งก่อสร้างที่ไม่ต้องรับแรงสั่นสะเทือนมาก

“ต้นทุนที่ต่ำไม่ควรถูกใช้เป็นข้ออ้างในการลดทอนคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวัสดุที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และอุตสาหกรรมเหล็กเป็นเสาหลักของความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม หากไม่ควบคุมให้มีมาตรฐานอย่างเคร่งครัด ประเทศไทยอาจต้องแลกด้วยต้นทุนที่สูงกว่าราคาถูกที่เห็นในวันนี้” นายกวินพัฒน์ กล่าว

ขณะที่ ประเทศจีนซึ่งเคยมีการผลิตเหล็ก IF มากกว่า 100 ล้านตัน และในปี 2560 ได้มีคำสั่งปิดโรงงานเหล่านี้ภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี เนื่องจากไม่สามารถควบคุมมลภาวะและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม เพราะมีตึกถล่มมากในประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม โรงงาน IF จำนวนไม่น้อยที่ถูกปิดในประเทศจีน ได้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศที่ยังไม่มีข้อจำกัดที่ชัดเจน เช่น ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ซึ่งแตกต่างจากประเทศในอาเซียนอื่น เช่น มาเลเซีย ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ระบบ IF ในการผลิตเหล็กเพื่อจำหน่ายในประเทศ

นอกจากกลุ่มเหล็กทรงยาวแล้ว ยังมีแนวโน้มที่ผู้ผลิตเหล็กจากประเทศจีนบางรายจะขยายการใช้เตา IF มาผลิต เหล็กทรงแบน ได้แก่เหล็กม้วนซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กโครงสร้าง เช่น ท่อเหล็ก เหล็กตัวซี และเหล็กแผ่น ซึ่งเป็นวัสดุหลักในงานโครงสร้างอาคารและโครงสร้างวิศวกรรมอื่น ๆ หากไม่มีมาตรการควบคุมอย่างเป็นระบบ เหล็กทรงแบนจากเตา IF อาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งยากต่อการตรวจสอบเมื่อถูกนำไปใช้งานจริง ซึ่งในโลกนี้การผลิตเหล็กม้วนดำ ไม่มีใครใช้เหล็กจากเตา IF มีเพียงแต่โรงงานเล็ก ๆ ในประเทศจีนเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ได้ถูกปิดไปหมดแล้ว แต่มีการย้ายฐานการผลิตมาในไทย

ประเทศไทยในฐานะประเทศเปิดรับการลงทุน ได้กลายเป็นเป้าหมายของการขยายฐานการผลิตของจีน โดยโรงงานหลายแห่งได้รับ สิทธิประโยชน์จาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรจากประเทศจีน ซึ่งเป็นเครื่องจักรเก่า เทคโนโลยีเก่าที่สร้างมลพิษ หรือการยกเว้นภาษีนิติบุคคล

เพื่อส่งเสริมการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรม บางกรณีโรงงานจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยมีพฤติกรรมการนำเข้าสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากจีน แล้วแปรรูปเพียงเล็กน้อยในไทย ก่อนจะส่งออกต่อไปยังประเทศคู่ค้าเช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตทางอ้อมของจีน ภายใต้นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีการประกาศมาตรการขึ้นภาษีและตอบโต้ทางการค้า (Trade Remedy) ต่อสินค้าจากจีนอย่างเข้มงวด

หากตรวจพบว่าสินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทยมีต้นทางหรือแหล่งกำเนิดจากจีน แม้จะผ่านการแปรรูปเพียงเล็กน้อย ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะถูกพิจารณาให้อยู่ภายใต้มาตรการเหล่านี้ สถานการณ์เช่นนี้อาจนำไปสู่ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์และความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ หากไม่มีการทบทวนหรือควบคุมกลไกการใช้สิทธิประโยชน์การลงทุนอย่างเหมาะสม

ขณะที่ สินค้าในกลุ่ม โครงสร้างเหล็กสำเร็จรูป (Prefab) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานบังคับที่ชัดเจน ยังคงเป็นช่องโหว่สำคัญที่เปิดโอกาสให้มีการนำเข้าสินค้าที่ไม่ผ่านการทดสอบหรือควบคุมคุณภาพอย่างเหมาะสม ไม่มีการตรวจสอบว่าโครงสร้างที่นำเข้ามาตรงกับแบบก่อสร้างที่ยื่นขออนุญาตหรือไม่ อีกทั้งไม่สามารถประเมินได้ว่ามีความแข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือระบุว่ามีการนำเข้าสินค้าเหล็กคุณภาพต่ำประมาณ 30,000 ตันและยังมีการทยอยนำเข้ามาอีกเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเหล็กเคลือบผสมอะลูมิเนียม 5% + สังกะสี (5% AL+Zinc coat) หรือในชื่อ SZACC แต่มีการสวมรหัสพิกัดเป็นเหล็กเคลือบแมกนีเซียม(Mg) เพื่อเลี่ยงมาตรฐานบังคับและภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) โดยนำเข้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งหากกรมศุลกากรตรวจสอบพบว่าสินค้าไม่ตรงตามที่แจ้งไว้ จะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นอกจากการเลี่ยงพิกัดสินค้าแล้ว ยังมีแนวโน้มการ “แต่งสูตร” โดยผู้ส่งออกจีน เช่น การเติมสารเคมีพิเศษอย่าง Galfan + Si เข้าไปในเนื้อเหล็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการอยู่ภายใต้มาตรฐานบังคับของ มอก. เช่น มอก. CGI แม้จะไม่มีผลต่อคุณภาพหรือการใช้งานอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม หากหน่วยงานรัฐยังยอมรับการแต่งสูตรโดยไม่มีเกณฑ์ควบคุมที่เข้มงวด ก็จะเปิดช่องให้เกิดการหลบเลี่ยงมาตรฐานได้ต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้อย่างรอบด้าน มีข้อเสนอแนวทางปฏิบัติใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.) กำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพสินค้าเหล็กจากเตา IF โดยเฉพาะกลุ่มที่นำไปใช้ในงานก่อสร้างและโครงสร้างอาคาร หรือยกเลิกการอนุญาตการผลิตเหล็กจากเตา IF เหมือนที่หลาย ๆ ประเทศไม่อนุญาตให้เปิด

2.) เร่งผลักดันการออก มอก. บังคับอย่างเร่งด่วน สำหรับสินค้ากลุ่มสำคัญ เช่น ท่อเหล็กโครงสร้าง มอก 107 หรือเหล็กโครงสร้างประเภทอื่นๆ

3.) อุดช่องโหว่ทางกฎหมายและศุลกากร เช่น การหลีกเลี่ยงพิกัด และการแต่งสูตรเพื่อหลบเลี่ยงมาตรฐาน

4.) ทบทวนหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์จาก BOI โดยเฉพาะกับกิจการที่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ

Back to top button