
“ดาวโจนส์” ทรุด 1,509 จุด หลัง “ทรัมป์” รีดเก็บภาษีทั่วโลก หวั่นเทรดวอร์ลุกลาม
ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งหนัก! ดาวโจนส์ร่วงอยู่ที่ 40,719.33 จุด ลบ 1,509 จุด หลังทรัมป์ประกาศเก็บภาษีตอบโต้และภาษีครอบจักรวาล นักลงทุนแตกตื่น ทิ้งสินทรัพย์เสี่ยง หวั่นสงครามการค้าปะทุทั่วโลก
ผู้สื่อข่าวรายงาน (3 เม.ย.68) ณ เวลา 20.48 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 40,719.33 จุด ลบ 1,509.13 จุด หรือ 2.95% หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) และภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล (universal tariff) เมื่อวานนี้
โดยภาษีศุลกากรตอบโต้จะแตกต่างกันไปเป็นรายประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการตั้งกำแพงภาษีของประเทศนั้นๆ ที่มีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐ และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย.68 ส่วนภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาลจะอยู่ที่ระดับ 10% เท่ากันทุกประเทศ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เม.ย.68
หลายประเทศเตรียมตอบโต้สหรัฐ หากการเจรจาเพื่อลดอัตราภาษีไม่ประสบความสำเร็จก่อนเส้นตายวันที่ 9 เม.ย.68
ขณะที่นักลงทุนพากันทิ้งสินทรัพย์เสี่ยง หันเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลกด้วยการประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ต่อประเทศคู่ค้าวานนี้ ซึ่งจะจุดปะทุการเกิดสงครามการค้าทั่วโลก
ทั้งนี้ นายคาร์ล ไวน์เบิร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก High Frequency Economics เปิดเผยว่า นโยบายเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐราว 10% ในไตรมาส โดยการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยคือการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว -3.7% ในไตรมาส 1/2568
นายไวน์เบิร์กคาดการณ์ว่า มาตรการภาษีของปธน.ทรัมป์จะส่งผลให้รายได้ของภาคครัวเรือนและกำไรของภาคธุรกิจหายไปราว 7.41 แสนล้านดอลลาร์ และตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้นอีก หากรวมถึงผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากแคนาดาและเม็กซิโก
นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่พุ่งขึ้น โดยราคาของไม้เนื้ออ่อนนำเข้าจะสูงขึ้นถึง 25%
นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนมิ.ย.,ก.ค.และต.ค. หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ต่อประเทศคู่ค้าวานนี้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 80.8% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนพ.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือนมิ.ย. และปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมเดือนก.ค. รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.50-3.75% ในการประชุมเดือนต.ค.
นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ แม้ว่าในรายงานคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีนี้
ทั้งนี้ รายงาน Dot Plot ของการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 19 มี.ค. เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.50% ในปีนี้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.50% ในปี 2569 และลดอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในปี 2570
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด มีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในการประชุมประจำปีของ Society for Advancing Business Editing and Writing (SABEW) ที่เมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย
นายพาวเวลจะกล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ เวลา 11.25 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับเวลา 22.25 น.ตามเวลาไทย
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวล เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้
นอกจากนี้ การกล่าวสุนทรพจน์ของนายพาวเวลจะมีขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้วานนี้
ก่อนหน้านี้ นายพาวเวลกล่าวหลังการประชุมนโยบายการเงินของเฟดเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ว่า มาตรการเรียกเก็บภาษีของปธน.ทรัมป์จะส่งผลให้เฟดเผชิญกับความล่าช้าในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ
นายพาวเวลยอมรับว่า ความไม่แน่นอนยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก และถือเป็นความท้าทายสำหรับเฟดในการรับมือกับนโยบายใหม่จากรัฐบาลทรัมป์ แต่นายพาวเวลยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เผชิญภาวะถดถอย