“ไทย-ภูฏาน” ลงนาม FTA เปิดตลาดใหม่สู่เอเชียใต้ เพิ่มปริมาณการค้า 120 ล้านเหรียญสหรัฐ

ไทย-ภูฏาน ลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) อย่างเป็นทางการ คาดจะเสริมสร้างการค้าระหว่างสองประเทศได้มากถึง 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายนำเยล ดอร์จิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจ้างงานของภูฏาน ได้ร่วมลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ภูฏาน ในวันที่ 3 เม.ย.68 โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีของภูฏาน เป็นสักขีพยาน ณ ทำเนียบรัฐบาล

โดย FTA ไทย-ภูฏาน เป็น FTA ฉบับที่ 17 ของไทย ที่สามารถบรรลุผลการเจรจาภายในเวลา 9 เดือน ทั้งนี้ภูฏานเป็นประเทศลำดับที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียใต้ ที่ได้จัดทำ FTA กับไทย ต่อจากอินเดียและศรีลังกา โดยเป็นตลาดศักยภาพแห่งใหม่ที่มีความต้องการซื้อสินค้าไทย ซึ่งจะช่วยขยายฐานตลาดส่งออกของไทยให้เพิ่มขึ้น

FTA ฉบับนี้จะครอบคลุมเฉพาะการเปิดเสรีการค้าสินค้า โดยเป็นการยกเว้นภาษีทันทีในวันที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ ซึ่งภูฏานจะยกเว้นภาษีสินค้าเกือบทั้งหมดให้กับไทย โดยสินค้าสำคัญที่คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน, สินค้าเกษตร, อาหาร เช่น ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้ เส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารปรุงแต่ง, สิ่งทอ, เครื่องแต่งกาย, เคมีภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์ยาง, พลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ไทยจะยกเลิกภาษีสินค้าให้กับภูฏาน 94% โดยสินค้าสำคัญที่คาดว่าภูฏานจะได้รับประโยชน์ อาทิ มันฝรั่ง ชาเขียว แยมและเยลลี่ผลไม้และน้ำผลไม้

ทั้งนี้ ภูฏานมีศักยภาพที่จะเป็นตลาดรองรับการส่งออกของไทยได้ในระยะยาวได้ ซึ่ง FTA จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มพูนปริมาณการค้าสองฝ่าย เป็น 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากภูฏานมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง และได้ก้าวเป็นประเทศกำลังพัฒนาเมื่อปี 2566

คาดว่าการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ภูฏาน จะเป็นประโยชน์ต่อไทย เนื่องจากจะช่วยสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดภูฏาน จากการลดเลิกภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยจะมีแหล่งวัตถุดิบทางเลือกเพิ่มมากขึ้น จากการที่ไทยเปิดตลาดให้กับสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบจากภูฏาน อาทิ แร่ธาตุ ถั่งเช่า เห็ดมัตซึทาเกะ และผักและผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิล ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทย รวมทั้งผู้บริโภคชาวไทยจะมีทางเลือกบริโภคสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น

นายพิชัย กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะจัดสัมมนาประชาพิจารณ์ FTA ไทย-ภูฏาน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ FTA ไทย-ภูฏาน ทั้งในประเด็นการเปิดตลาดสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ก่อนนำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบ จากนั้นหน่วยงานของไทย จะดำเนินการออกกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการมีผลใช้บังคับของ FTA ตั้งเป้าให้ FTA ไทย – ภูฏาน มีผลใช้บังคับได้ภายในวันที่ 1 ม.ค.69 โดยขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการไทยศึกษาโอกาสและแนวทางการใช้ประโยชน์จาก FTA ไทย-ภูฏาน เพื่อเตรียมใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในปี 2567 การค้าระหว่างไทยและภูฏานมีมูลค่า 460.47 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปภูฏาน 457 ล้านบาท และนำเข้าจากภูฏาน 3.47 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ ยานพาหนะและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน เครื่องดื่ม และผลไม้กระป๋องและแปรรูป และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย อาทิ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้ เครื่องบิน เครื่องร่อนอุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ และเครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา

Back to top button