“ส.นักวิเคราะห์” ชี้แนวรับ 1,100 จุดแกร่ง! แนะเก็บ 4 หุ้นกำไรโตพื้นฐานดี ลุ้น Q2 เด้งเร็ว

"สมาคมนักวิเคราะห์” มั่นใจ SET แนวรับ 1,100 จุด แกร่ง แม้เจอแรงกดดันจากภาษีสหรัฐฯ-แผ่นดินไหว พร้อมเผยผลโพล 23 สำนักฯ ชี้หุ้นไทยมีโอกาสปิดปีที่ 1,322 จุด แนะกระจายพอร์ตลงทุนลุ้นดีดกลับไตรมาส 2/68 รับมาตรการรัฐหนุน เน้นกลุ่ม “เทค-แพทย์-ค้าปลีก” ชู ADVANC-BDMS-CPALL-KTB หุ้นเด่นกำไรโตพื้นฐานแกร่ง


นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา และมาตรการภาษีศุลกากรสหรัฐที่เรียกเก็บจากไทย 37% ประเมินผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ไม่น่าหลุดแนวรับ 1,100 จุด และหากดัชนีปรับตัวลงก็คาดว่าจะเด้งกลับได้ หลังจากตอบรับข่าวลบมามากแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการเจรจากับสหรัฐ ซึ่งคาดว่ารัฐบาลไทยจะสามารถเจรจาได้สำเร็จ

ผลการสำรวจความเห็นสมาชิกนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนรวม 23 สำนัก เกี่ยวกับมุมมองการลงทุนไตรมาส 2/68 โดยสรุป

สมมติฐานหลักที่นักวิเคราะห์ใช้

– ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยของปีนี้ 73.49 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

– สมมติฐาน GDP ไทยปี 68 ต่ำสุด 1.5% และสูงสุดที่ 3% โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.56%

– Risk Free Rate ที่ใช้ในการประเมินมูลค่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.30%

– Risk Premium ของตลาดหุ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 8.20%

ปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางการลงทุนจนถึงสิ้นปี 68 แบ่งเป็นปัจจัยบวก นำโดยทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ผู้ตอบแบบสำรวจ 91.30% เทคะแนนให้อย่างชัดเจน ปัจจัยรองลงมาผู้ตอบ 56.52% โหวตให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ

ส่วนปัจจัยลบ คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจต่างประเทศทั้ง อเมริกา ยุโรป เอเชีย มีผู้ตอบ 86.96% ของผู้ตอบทั้งหมด รองลงมาเศรษฐกิจภายในประเทศ มีผู้ตอบ 78.26% ตามมาด้วยปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศ มีผู้ตอบ 69.57% และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 68 มีผู้โหวต 60.87% ตามลำดับ

ขณะที่ปัจจัยที่น่าจับตามองเป็นพิเศษในไตรมาส 2/68 คือการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ ตามมาด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยและนโยบายของรัฐบาลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

ส่วนคาดการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในสิ้นปี 68 ยังมีความเห็นต่างกันพอสมควรโดยผู้ตอบ 65% คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดลงจากเดิม 2% มาที่ 1.75% รองลงมา ผู้ตอบ 25% มองว่าอาจลดลงมาที่ 1.50% และผู้ตอบ 10% มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ปรับลดลงอีกในปีนี้และทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2%

ด้านคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 68 ของตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 90.03 บาท ปรับลดลงจากผลสำรวจครั้งก่อนที่ 94.95 บาท และคาดว่า EPS Growth ของปีนี้เฉลี่ยที่ 13.87% ทางด้านคาดการณ์ทิศทางหุ้นไทยตลอดปี 68 จะแกว่งตัวในกรอบ 1,113 ถึง 1,336 จุด โดยจะไปปิดสิ้นปี 68 ที่ 1,322 จุด

นักวิเคราะห์แนะนำให้มีการกระจายพอร์ตการลงทุน แบ่งเป็น

– เงินสดและเงินฝากระยะสั้น 15%

– กองทุนตราสารหนี้ 18.10%

– หุ้นหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ 24.71%

– หุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย 21.95%

– ทองคำหรือกองทุนทองคำ 13.21%

– กองทุนอสังหาฯหรือ REIT 6.31%

– สินทรัพย์อื่นๆ เช่น สกุลเงินต่างประเทศ / Digital Asse 0.71%

ด้านความเห็นการลงทุนต่างประเทศ แนะนำกองทุนตราสารหนี้สหรัฐฯ หรือกลุ่ม  AI-Technology และ Selective  Asia เช่น จีน เวียดนาม ทั้งนี้มีหลักทรัพย์ที่เกี่ยวกับการลงทุนต่างประเทศและทองคำ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (DR DRx) ที่แนะนำตรงกันตั้งแต่ 4 สำนักขึ้นไป มีดังนี้  (เรียงชื่อตามอักษรย่อ) ได้แก่ BABA80 GOLD03 GOLD19 TENCENT

สำหรับในการลงทุนหุ้นไทยนั้น แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหมวดธุรกิจค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม การแพทย์ เทคโนโลยีและการสื่อสาร ในขณะที่ให้ลดน้ำหนักการลงทุนใน หมวดธุรกิจยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

รายชื่อหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 4 สำนักขึ้นไป มีดังนี้

1.ADVANC คาดกำไรปี 68 โตเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเร่งตัวขึ้นของรายได้หลัก ตามการเพิ่มขึ้นรายได้ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ หนุนจากจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น คาดรายได้จากธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านเพิ่มขึ้น ตาม Demand การซื้อแพ็คเกจแบบพ่วงบริการ ส่วนการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ คาดได้ราคาประมูลใกล้เคียงกับราคาเริ่มต้นเนื่องจากการแข่งขันที่น้อย ซึ่งจะช่วยลดโครงสร้างต้นทุน

2.BDMS มองว่ากำไรสุทธิปี 68 มีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่อง ได้แรงหนุนจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของรายได้คนไข้ชาวไทยและชาวต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มตะวันออกกลาง จากการทำการตลาดของบริษัทฯ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทย รวมถึงแผนการเพิ่มจำนวนเตียง และการขยายศูนย์ทางการแพทย์ในด้านต่างๆ

3.CPALL มองว่าผลประกอบการโตเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนต่อเนื่อง ราคาหุ้นไม่แพง PER2025 เพียง 16 เท่า และได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ

4.KTB ปัจจัยสนับสนุนจากงบดุลแกร่ง และสินเชื่อเติบโตจากภาครัฐ แม้ให้ Yield ต่ำแต่ก็ไม่มีปัญหาหนี้เสีย

สำหรับหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ หุ้นบางบริษัทในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่ราคาเกินพื้นฐาน ถูกกดดันจาก CAP WEIGHT และหุ้นที่ได้รับผลกระทบการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐ

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังได้เพิ่มเติมการแนะนำไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายที่จะมีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ มีความคุ้มค่ากับงบประมาณ ได้แก่ เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่หนุนศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลักดันอุตสาหกรรม New S-Curve เสนอด้านการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ได้แก่ ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมากปรับโครงสร้างธุรกิจแก่ SME สร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวในประเทศ และตามมาด้านการช่วยเหลือภาคประชาชน ได้แก่ นโยบายที่เอื้อต่อการเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ออกมาตรการให้ Reward ต่อลูกหนี้ที่ชำระหนี้ตรงเวลา เพื่อลดภาระ NPL ในระยะยาวและให้ความสำคัญด้านการศึกษา

Back to top button