จับตา 8 เม.ย.นี้! ศาลฯ ชี้ชะตาคดี “ไตรรัตน์” ฟ้องบอร์ด “กสทช.“ ปมงบถ่ายสดบอลโลก 600 ล้าน

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดพิพากษาคดีที่ ”ไตรรัตน์“ ฟ้องบอร์ดกสทช. 5 ราย 8 เม.ย.นี้ ปมจัดสรรงบถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 600ล้านบาท เสี่ยงละเมิดกฎหมาย-มติองค์กร


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 8 เม.ย.นี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำอท.155/2566 ซึ่ง นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ ในฐานะรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ได้ยื่นฟ้องกรรมการ กสทช. จำนวน 4 ราย และรองเลขาธิการอีก 1 ราย ฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157และตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

โดยคดีดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากคำสั่งลับ กสทช. ที่ 7/2566 ลงวันที่23 มกราคม 2566 ซึ่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการใช้งบประมาณ 600 ล้านบาทจากกองทุน กทปส. เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 โดยคณะอนุกรรมการดังกล่าวมีผู้ถูกเสนอชื่อโดยกรรมการ กสทช. จำเลยที่ 1-3 ก่อนจะถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจฝ่าฝืนกฎหมายและขัดต่อมติ กสทช. และข้อเสนอจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 คณะอนุกรรมการได้จัดทำรายงานลับสรุปว่าการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. อาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมาย โดยมีมติเสียงข้างมาก 4 เสียงเห็นพ้อง และ2 เสียงงดออกความเห็น อย่างไรก็ตาม นายไตรรัตน์เห็นว่ารายงานดังกล่าวเป็นเพียง “ความเห็นลอยๆ” ที่ขาดน้ำหนักทางกฎหมาย

 

การประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ได้นำรายงานเข้าสู่วาระการประชุม และมีมติรับทราบ พร้อมพิจารณาว่านายไตรรัตน์อาจกระทำผิดกฎหมาย จึงลงมติแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และมีคำสั่งให้ปลดจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. จนกว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จ โดยนายไตรรัตน์ระบุว่าการดำเนินการดังกล่าวฝ่าฝืนข้อบังคับ กสทช. ข้อ21 และ 29 และเปิดช่องให้จำเลยที่ 5 เข้าดำรงตำแหน่งแทน พร้อมทั้งยืนยันว่าการปลดออกจากตำแหน่งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและความก้าวหน้าในสายอาชีพอย่างร้ายแรง

 

สำหรับคดีนี้ได้รับความสนใจจากสาธารณชน เนื่องจากมีรายงานว่า องค์คณะผู้พิพากษาชุดเดียวกันเคยมีคำพิพากษาในคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องกรรมการ กสทช. รายหนึ่ง ซึ่งเป็นจำเลยในคดีปัจจุบัน และมีคำพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา รวมถึงเคยพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับมติควบรวมกิจการทรู-ดีแทค

 

ทั้งนี้ คำพิพากษาในวันที่ 8 เมษายนนี้จึงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดทั้งจากวงการสื่อ สาธารณชน และนักลงทุน เนื่องจากอาจส่งผลต่อการทำงานของ กสทช. และบรรทัดฐานในการกำกับดูแลองค์กรอิสระในอนาคต ทั้งในด้านธรรมาภิบาล ความโปร่งใสรวมทั้ง บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูง

Back to top button