คต. เตรียมเฝ้าระวัง “สินค้าแอบอ้างไทย” ส่งออกสหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ เฝ้าระวังสินค้าที่มีความเสี่ยงแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทยในการส่งออกไปสหรัฐฯ ภายหลังสหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่มาจากไทยเป็นร้อยละ 36


นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากสหรัฐฯ มีมาตรการขึ้นภาษีกับต่างประเทศ โดยได้มีการประกาศเรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้าต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งไทยถูกกำหนดอัตราภาษีที่ร้อยละ 36 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้มีการติดตามเฝ้าระวังการหลบเลี่ยงการใช้มาตรการของสหรัฐฯ จากประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ศุลกากรสหรัฐฯ ว่าสินค้าที่ส่งออกมีถิ่นกำเนิดไทยจริง โดย คต. ได้กำหนดรายการสินค้าเฝ้าระวังไปสหรัฐฯ จำนวน 49 รายการ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ล้อเหล็กสำหรับรถบรรทุก แผ่นหินเทียม และท่อเหล็ก เป็นต้น โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกจะต้องยื่นขอตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าก่อนขอรับหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไป

สำหรับมาตรการดังกล่าวจะเป็นการตรวจสอบคัดกรองสินค้า เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ จากประเทศอื่นๆ โดยผู้ส่งออกที่ประสงค์จะขอหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไป สำหรับการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ต้องผ่านการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าจากกรมฯ ก่อน จึงจะสามารถขอรับหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไปเพื่อใช้ประกอบการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐได้

ทั้งนี้ จากการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯ พบว่า การเข้าตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าของสหรัฐฯ ลดลงจากเดิม 10 รายการ เหลือ 6 รายการ และมีเพียง 2 รายการที่พบการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งกรมฯ ได้มีการเพิกถอนหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไป และได้มีการกำหนดมาตรการกับผู้ส่งออกรายดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งได้ติดตามเฝ้าระวังกระบวนการขอหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไป ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น

“กรมฯ มีแผนจะเพิ่มรายการสินค้าเฝ้าระวังฯ โดยได้ดำเนินการติดตามข้อมูลสถิติทางการค้าสำหรับรายการสินค้าอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงสูงในการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทยจากมาตรการ AD และมาตรการ 301 อย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้ได้ดำเนินการติดตามรายการสินค้าจากมาตรการ 232 เพิ่มเติมด้วย เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงที่อาจมีสินค้าดังกล่าวมาแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย โดยจะพิจารณาปรับเพิ่มรายการสินค้าเฝ้าระวังฯ ของกรมฯ ต่อไป อีกทั้งกรมฯ ได้มีการประสานงานและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันป้องกันปัญหาการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” อารดา เฟื่องทอง กล่าว

Back to top button