“ตลท.” จี้ WAVE แจงด้อยค่า I-REC กว่า 1 พันล้าน ขีดเส้น 16 เม.ย.นี้

ตลท. จี้ WAVE เคลียร์ปมขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (I-REC) หลังบันทึกด้อยค่ากว่า 1,031 ล้านบาท ขณะผู้สอบบัญชีปฏิเสธแสดงความเห็น เหตุขาดข้อมูลประเมินมูลค่าราคาขาย I-REC สั่งแจงภายในวันที่ 16 เม.ย. 68


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่าขอให้ บริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด (มหาชน) หรือ WAVE ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินประจำปี 2567 โดยผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน เนื่องจากไม่สามารถได้รับหลักฐานการตรวจสอบที่เหมาะสมอย่างเพียงพอในการกำหนดราคาที่คาดว่าจะขายได้ของใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (I-REC(E)s) ส่งผลให้มีการบันทึกด้อยค่ารายการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ I-REC(E)s รวม 1,031 ล้านบาท และส่งผลให้ปี 2567 มีผลประกอบการขาดทุน 774 ล้านบาท

ทั้งนี้ ขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 16 เมษายน 2568 สำหรับความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบขอให้ชี้แจงภายในวันที่ 21 เมษายน 2568 นอกจากนี้ ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินและติดตามคำชี้แจงของบริษัท

โดยก่อนหน้านี้ สรุปเหตุการณ์และข้อมูลสำคัญในงบการเงินประจำปี 2567 คือ 1. บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด (เวฟ บีซีจี) (บริษัทย่อย 74%) ประกอบธุรกิจที่ปรึกษาและให้บริการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (I-REC(E)s) ปี 2567 มีรายได้ 6 ล้านบาท และด้อยค่าสินทรัพย์และหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับ I-REC(E)s รวม 1,031 ล้านบาท ได้แก่

1.1 ด้อยค่าสินค้าคงเหลือ 589 ล้านบาท (55% ของมูลค่า) โดยที่ในปี 2567 เวฟ บีซีจี ได้ถือครอง I-REC(E)s เพิ่มขึ้นจาก 682 ล้านบาท เป็น 1,066 ล้านบาท

1.2 ด้อยค่าเงินจ่ายล่วงหน้าในสัญญาระยะยาวเพื่อซื้อ I-REC(E)s ที่ยกเลิกไม่ได้ 139 ล้านบาท (41% เงินจ่ายล่วงหน้า) และขาดทุนจากสัญญาระยะยาวดังกล่าวอีก 303 ล้านบาท จากการที่บริษัทต้องชำระเงินภายใน 5 ปี รวม 1,077 ล้านบาท ทั้งนี้สัญญาดังกล่าวเป็นการทำรายการกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน 513 ล้านบาท

  1. เวฟ บีซีจี ได้ทำสัญญาขอขยายเวลาชำระเงินค่าซื้อ I-REC(E)s สรุปดังนี้

2.1 สัญญาที่มีกำหนดชำระในปี 2567 จำนวน 315 ล้านบาท ขอขยายเวลาเป็นภายในมีนาคม 2568 โดยจะได้รับคืนเงินมัดจำ 65 ล้านบาท เมื่อชำระค่าสินค้าครบถ้วน

2.2 สัญญาที่มีกำหนดชำระเดือนพฤษภาคม 2568 จำนวน 442 ล้านบาท (เป็นรายการกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน 128 ล้านบาท) ขอขยายเวลาเป็นภายในเดือนมกราคมและมีนาคม 2569 และชำระดอกเบี้ยอัตรา 4%

ขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ WAVE ชี้แจงข้อมูล ดังนี้ 1.อธิบายหลักเกณฑ์ในการกำหนดราคาซื้อ I-REC(E)s เนื่องจากมีความแตกต่างจากอัตราค่าพลังงานสีเขียว Utility Green Tariff (UGT1) ที่นำมาอ้างอิงเพื่อประเมินมูลค่าจนเป็นเหตุให้ต้องบันทึกด้อยค่ารวม 1,031 ล้านบาท

2.นโยบายในการบริหารสินค้าคงเหลือ I-REC(E)s ซึ่งรวมถึงการทำสัญญาระยะยาวเพื่อซื้อใบรับรองดังกล่าวลักษณะลูกค้าของบริษัท มาตรการดูแลเพื่อไม่ให้เกิดการด้อยค่าหรือขาดทุน การจัดการและการบริหารความเสี่ยงต่อสินทรัพย์ที่มีอยู่ และภาระผูกพันตามสัญญาสั่งซื้อระยะยาว

3.สรุปรายละเอียดของคู่ค้าที่เป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกัน ได้แก่ ชื่อบริษัท การประกอบธุรกิจ ลักษณะความสัมพันธ์การกำหนดราคาและเงื่อนไขการค้า รวมทั้งบริษัทได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศว่าด้วยรายการที่เกี่ยวโยงกันแล้วหรือไม่ อย่างไร

4.แนวทางในการบริหารจัดการสภาพคล่องและแหล่งเงินทุนเพื่อชำระค่าซื้อ I-REC(E)s ตามภาระผูกพันสัญญาระยะยาวที่คงค้าง รวมทั้ง เวฟ บีซีจี ได้ชำระค่าซื้อ I-REC(E)s จำนวน 315 ล้านบาท ที่ครบกำหนดเดือนมีนาคม 2568 และได้รับคืนเงินมัดจำ 65 ล้านบาท ครบถ้วนแล้วหรือไม่ อย่างไร

5.ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับความเหมาะสมของการบริหารจัดการและแนวทางบริหารความเสี่ยงของธุรกิจI-REC(E)s และความเพียงพอของการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อย

Back to top button