ศาลยกฟ้อง “ไตรรัตน์” เอาผิด “4 กสทช.” ฟันทุจริตงบ 600 ล้าน ถ่ายบอลโลก 2022

ศาลยกฟ้อง "ไตรรัตน์" เอาผิด 4 กรรมการ กสทช. ใช้คดีทุจริตการสนับสนุนงบ 600 ล้านบาท ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 จัดการตนเอง ชี้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ไม่ขัดต่อกฎหมาย


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (8 เม.ย. 68) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน มีการนัดฟังคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำ อท.155/2566 โดย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. (โจทก์) ได้ยื่นฟ้อง กรรมการ กสทช. 4 ราย และรองเลขาธิการอีก 1 ราย ได้แก่

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 1), น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 2), นายศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 3), นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 4) และนายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. (จำเลยที่ 5) ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

โดย ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้พิพากษาตัดสินว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 ราย เพราะพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักไม่เพียงพอ โดยศาลได้อ่านคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึง 5 ไม่มีความผิดในคดีดังกล่าว โดยจากคำพิพากษาสรุปว่า 4 กสทช. ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่และกฎหมาย ไม่ได้ดำเนินการขัดต่อกฎหมายและระเบียบฯ แต่อย่างใด ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง ซึ่งกรรมการ กสทช. ทั้ง 4 คน ได้ขอขอบพระคุณศาลที่ได้ให้ความยุติธรรม

สำหรับ นายไตรรัตน์ ยื่นฟ้อง 4 กรรมการ กสทช. สาเหตุ จากคำสั่ง กสทช. ที่ 7/2566 ลงวันที่ 23 ม.ค. 66 ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสนับสนุนงบ 600 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนา (กทปส.) เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

โดยที่คณะอนุกรรมการชุดนี้ถูกเสนอชื่อโดยจำเลยที่ 1 ถึง 3 และต่อมาถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย และละเมิดมติ กสทช. รวมถึงข้อเสนอของ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และมติที่ประชุม กสทช.

รวมทั้งข้อเสนอของ กกท.  ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2566 คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทำรายงานลับสรุปว่า การดำเนินการของสำนักงาน กสทช. อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมี 4 เสียงเห็นพ้อง และอีก 2 เสียงงดออกความเห็น ซึ่งนายไตรรัตน์มองว่า รายงานดังกล่าวเป็นเพียง “ความเห็นลอยๆ” ไม่มีน้ำหนักทางกฎหมาย

ขณะที่ ต่อมาในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 วันที่ 9 มิ.ย. 2566 ได้บรรจุรายงานดังกล่าวไว้ในระเบียบวาระ 5.22 ที่ประชุมมีมติรับทราบรายงานและพิจารณาว่าการกระทำของนายไตรรัตน์อาจฝ่าฝืนกฎหมาย พร้อมลงมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และให้ปลดนายไตรรัตน์จากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น

โดย นายไตรรัตน์ อ้างว่า การลงมติปลดจากตำแหน่งขัดต่อระเบียบ กสทช. ข้อ 21 และ 29 ที่ห้ามกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโดยลำพัง และเป็นการเปิดทางให้จำเลยที่ 5 เข้ารับตำแหน่งแทน และเหตุการณ์นี้ยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพของตน เนื่องจากข่าวการปลดตำแหน่งถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง

Back to top button