
สสส. ร่วมกับภาคีจัดกิจกรรม “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2568” สู้สงครามข้อมูลยุคดิจิทัล
สสส. ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริซ เนามันฯ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาองค์กรของผู้บริโภค อสมท. Thai PBS Cofact ร่วมกันจัดกิจกรรม วันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2568 สงครามข้อมูล 2025 เพื่อรู้เท่าทันสื่อยุคดิจิทัล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ Change Fusion The Centre for Humanitarian Dialogue (HD) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาองค์กรของผู้บริโภค สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย Thai PBS AFP ประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จัดงาน “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2568 (International Fact-Checking Day 2025) สงครามข้อมูล 2025: โจทย์แห่งความจริงในยุควิกฤตความเชื่อมั่น The Battle for Truth: Reclaiming Information Integrity in the Age of Distrust” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมถ่ายทอดสดทางเพจ Thai PBS และ Cofact โคแฟค
รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยข้อมูลและคำถามต่าง ๆ มากมาย ไม่ใช่เพียงอะไรคือความจริง แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เชื่อหรือสิ่งที่ส่งต่อนั้นเป็นความจริง และใครมีอำนาจบอกได้ว่าอะไรจริงหรือเท็จ ในยุคปัจจุบันที่ทุกคนเป็นทั้งผู้ส่งและรับสาร ความสามารถในการกลั่นกรองจึงไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นทักษะที่จำเป็นในการอยู่รอดของประชาธิปไตย สติปัญญาและสุขภาพจิตของสังคม
“ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีการส่งต่อข้อมูลผิดไม่ว่าจะเป็นเรื่องจุดศูนย์กลาง ความรุนแรงหรือผลกระทบของแผ่นดินไหว จนสร้างความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น หรือแม้แต่ในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจทางการเมืองที่ผ่านมาก็จะมีข้อเท็จจริงบางอย่างถูกตัดทอน บิดเบือนหรือแม้แต่ถูกปลอมแปลง จนกลายเป็นเครื่องมือชี้นำความคิดเห็นต่อสาธารณะ ทั้ง 2 กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลที่ผิดพลาดจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ ต่อความมั่นคงทางอารมณ์ แม้แต่ความปลอดภัยของสาธารณชนได้โดยตรง” รศ.ดร.ปรีดา กล่าว
เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานนี้ การตรวจสอบข่าวและมีคนที่ถือโอกาสเสนอสิ่งต่าง ๆ การสื่อสารผ่านช่องทางที่เรากำลังอยากได้พอดี ทำให้เห็นว่าระบบข้อมูลสำคัญมาก ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจหรือภาคใด ๆ แต่ต้องทำงานร่วมกัน อย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 มีการสื่อสารเกิดขึ้นมากอย่างท่วมท้น
“ด้วย สสส. มีความมุ่งมั่นพัฒนาระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ การสร้างปัจจัยสิ่งแวดล้อม โคแฟคเป็นหนึ่งในนั้น เราจะทำอย่างไร เราไม่สามารถบอกว่าออกกฎหมาย 1 ฉบับ ส่งอันนี้ให้คนนี้มาทำงาน เราจะไม่สามารถเกิดอันนั้นเลยถ้าเรายังไม่เห็นความสำคัญว่าสิ่งอะไรที่กำลังจะตามมา ทาง World Economic Forum บอกว่าข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือนยังเป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 1 ติดต่อกันมาแล้ว 2 ปี แปลว่าเราก็ยังไม่สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้” เบญจมาภรณ์ กล่าว
วาเนสซ่า สไตน์เม็ทซ์ ผู้อำนวยการโครงการประจำประเทศไทยและเวียดนาม มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ หนึ่งในองค์กรร่วมจัดงานครั้งนี้ แนะนำมูลนิธิฯ ว่า อยู่ภายใต้การสนับสนุนของภาคการเมืองฝ่ายเสรีนิยมในเยอรมนี โดยนอกจากการสนับสนุนงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูล (Fact Checking) แล้วยังส่งเสริมการเป็นประชาธิปไตย โดยทำงานใน 60 ประเทศทั่วโลก
แดเนียล ฟังเก้ หัวหน้าฝ่ายสืบสวนดิจิทัลสำหรับเอเชียแปซิฟิก สำนักข่าว AFP ฮ่องกง ปาฐกถาหัวข้อ “สงครามข้อมูล การทวงคืนความเชื่อมั่นสื่อในยุควิกฤตศรัทธา” กล่าวว่า AFP เป็นสำนักข่าวที่มีพนักงานตำแหน่งนักตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ 150 คน ใน 26 ภาษาทั่วโลก รวมถึงส่งผู้สื่อข่าวไปทำข่าวในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลเบื้องต้น ปัจจุบันสงครามข้อมูลข่าวสารที่หลีกหนีไม่พ้น มีข่าวปลอมแพร่หลาย ความเชื่อมั่นก็ลดลง ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวที่สนับสนุนหรือเห็นต่างจากรัฐบาลก็ตาม
“ข้อเท็จจริงยังสำคัญ ความรู้เท่าทันสื่อเป็นสิ่งจำเป็นและไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ทุกท่านสามารถมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือว่ารู้เท่าทันสื่อได้เช่นกัน และในส่วนของความเชื่อมั่น ไม่ว่าจะเป็นข่าวปลอมข่าวลวงต่างๆ ที่เกิดขึ้น แน่นอนความเชื่อมั่นอาจไม่สามารถกลับมาได้ในทันทีทันใด แต่ว่าถ้ามีกระบวนการทำซ้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มความโปร่งใสและการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของความเชื่อมั่นข้อมูลก็จะกลับมา” แดเนียล กล่าว
เจฟฟ์ กัว ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกโกลุก จำกัด (Whoscall) บรรยาในหัวข้อ “ความท้าทายระดับโลกและสงครามข้อมูล: การปฏิวัติ AI เป็นโอกาสหรือความเสี่ยง?” กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายไปในตัว ด้านหนึ่ง AI ช่วยสร้างนวัตกรรมแต่อีกด้านหนึ่งก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ เช่น Deepfake ซึ่งมักจะใช้คู่กับการส่งข้อความ (SMS) แนบ Link มาด้วย
“ในปี 2566 มีมูลค่าความเสียหายถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ตีเป็นเงินไทย 34 ล้านล้านบาท มากขนาดไหน? เงินบัญชีงบประมาณของรัฐบาลเราอยู่ที่ไม่เกิน 4 ล้านล้านบาทต่อปี โดยเฉลี่ย 1 ใน 4 คนไทยถูกหลอก มูลค่าความเสียหายต่อ 1 ท่าน เฉลี่ยอยู่ที่ 36,000 บาท ปัญหาหลักของประเด็นนี้คือความเชื่อมั่นทางดิจิทัลถูกบั่นทอน แน่นอนอยู่แล้วว่าเทคโนโลยีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในการใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ผิด (Misuse หรือ Abuse) ก็ส่งผลเสียตามมา” เจฟฟ์ กล่าว
ยังมีการประกาศความร่วมมือ “มอบรางวัลเพื่อส่งเสริมการตรวจสอบข้อมูลของสื่อ (Best Fact-Check and Digital Verification Award 2025)” จากหลากหลายองค์กร อาทิ สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า งานวันตรวจสอบข่าวลวงโลกซึ่งจัดขึ้นทุกปี ต้องขอบคุณภาคี เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิฟรีดริช เนามัน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และพันธมิตรอีกหลายองค์กร
การที่โคแฟคทำงานตรวจสอบข้อมูลข่าวสารมา 5 – 6 ปี ได้ข้อสรุปบทเรียนว่าแม้พยายามรณรงค์ให้คนรู้เท่าทันข้อมูล ก็ยังไม่เพียงพอกับการรับมือสงครามข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมา อย่างล่าสุดคือเรื่องภัยพิบัติที่ไม่ทราบว่าจะเชื่อใครได้บ้าง อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา หลายคนทราบว่าเป็นแผ่นดินไหว แต่คงอยากได้รับคำยืนยันว่าเป็นแผ่นดินไหมจริง ๆ จะเป็น SMS สั้น ๆ หรือจากหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่เชื่อถือได้
“จริงๆ แล้วไม่ใช่เราไม่รู้ว่าเกิดแผ่นดินไหว แต่ทำไมทุกคนเรียกร้อง? เพราะเราอยากได้รับการยืนยันว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริงแล้วเราจะต้องทำอย่างไรต่อไป ฉะนั้นในการรับมือกับสงครามข้อมูลข่าวสารคงไม่ใช่แค่เน้นให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อเท่านั้น แต่จะต้องยกระดับการแก้ปัญหาทั้งระบบ ไฮไลท์ของปีนี้จึงมีในส่วนของการประกาศความร่วมมือ” สุภิญญา กล่าว
อรพิน เหตระกูล เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์มีการประกวดข่าวออนไลน์ยอดเยี่ยมทุกปี ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 11 มีความร่วมมือกับทางโคแฟค ช่วยเพิ่มรางวัลในสาขา Best Fact Checking & Verification News (รางวัลยอดเยี่ยมด้านการตรวจสอบข่าวและยืนยันข้อเท็จจริง) เป็นการสร้างพื้นฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารให้กับคนทำงานสื่อมวลชน และเป็นกำลังใจให้คนทำงาน
“การประกวดข่าวก็จะเริ่มขึ้นภายในปลายปีนี้ ก็จะได้เรียนเชิญสื่อมวลชนต่างๆ ส่งชิ้นงานเข้าประกวด แล้วก็เชื่อว่ารางวัลนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น เป็นพื้นฐานสำคัญของคนทำงานด้านสื่อมวลชน ให้มีพื้นฐานการทำงานที่เน้นย้ำในเรื่องของการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหลายองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับด้านข่าว” อรพิน กล่าว
ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนฯ เป็นองค์กรมหาชนซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อ ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ และเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัย – ไม่สร้างสรรค์ โดยกองทุนฯ ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน สนับสนุนมาตรฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารในประเทศไทย
“เราทำงานร่วมกับ AFP ในการจัดอบรมในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีหลักสูตรทั้งระดับต้นแล้วก็ระดับสูงจัดทำทุกปี เราร่วมกับโคแฟคในหลายๆ ภูมิภาคในการทำงาน รวมถึงสมาคมวิชาชีพ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนต่างๆ ก็ต้องเรียนว่ากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เราพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรและร่วมผลักดันการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทยต่อไป” ดร.ชำนาญ กล่าว
นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ รองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติมีสมาชิกสื่อวิชาชีพครบทุกแพลตฟอร์มทั้งสิ่งพิมพ์ ออนไลน์และโทรทัศน์ และจำนวนสมาชิกยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยงานของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติคือการกำกับดูแลกันเอง แต่ก็อยากเชิญชวนไปยังสื่อบุคคล อินฟลูเอนเซอร์ ให้มาเป็นแนวร่วมและใช้แนวปฏิบัติเดียวกัน
จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ตนพยายามเสนออยู่ทุกปีคือนักข่าวนอกจากทำหน้าที่ในสนามแล้วยังต้องตรวจสอบข้อมูลทางออนไลน์ด้วย อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาก็มีหลายข่าวที่นักข่าวรีบช่วยสถานการณ์ในทันที มีเครือข่ายนักวิชาการ ทำงานร่วมกับองค์กรสื่อ เช่น สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ หรือล่าสุดคือ Whoscall ที่พูดคุยกันเรื่องแก้ปัญหาข่าวปลอม
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า งานข้อมูลนิธิฯ เน้นไปที่การปกป้องเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง เป็นการทำงานในเชิงป้องกัน แต่เมื่อตกเป็นเหยื่อแล้วก็ยังถูกกระทำซ้ำด้วยข้อมูลปลอมต่างๆ ดังนั้นเรื่องนี้จึงมีความสำคัญตั้งแต่การป้องกัน (Prevention) การปกป้อง (Protection) การดำเนินคดี (Prosecution) และการส่งเสริม (Promotion)
“ในแง่ของเราคือสนับสนุนเต็มที่ในเรื่องนี้ และเน้น Participation (การมีส่วนร่วม) ของทุกฝ่าย และอยากให้มีรางวัลแบบแยกไปเลยแบบบุคคล เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง เพราะจริงๆ แล้วเชื่อว่าการสื่อสารในแต่ละกลุ่มเป้าหมายน่าจะมีภาษา มีคาแร็คเตอร์อะไรต่างๆ ที่แตกต่างกัน และอีกอย่างที่เราอยากเน้นส่งเสริมคือบริษัทเทคโนโลยี ควรจะมีบทบาทอย่างมากเลยในการที่จะช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ เพราะเทคโนโลยีเข้ามาแล้วถูกนำไปใช้ในการหลอกลวงเยอะมาก” ดร.ศรีดา กล่าว
สถาพร อารักษ์วทนะ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่มีเครือข่ายพันธมิตรที่เติบโตและเข้มแข็งแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เชื่อว่าเรื่องของข่าวลวงจะต้องค่อย ๆ ลดน้อยลงหรืออาจเปลี่ยนรูปแบบไป เพราะในเครือข่ายของโคแฟคจะเข้มแข็งขึ้นตลอดเวลา ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนงานด้านนี้อยู่แล้ว
“จริง ๆ ตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค เราสามารถที่จะช่วยขยายและทำงานต่อจากโคแฟคได้อีก เพราะใน พ.ร.บ. ได้กำหนดไว้ว่า สภาผู้บริโภคสามารถที่จะบอกชื่อสินค้า บริการและผู้ประกอบการใด ๆ ที่ส่งผลอันตรายหรือเข้าข่ายที่จะทำร้ายผู้บริโภค ถ้าท่านใดหรือสำนักข่าวใดไม่กล้าที่จะบอกชื่อผู้ประกอบการ ไม่กล้าที่จะบอกชื่อสินค้า ส่งผ่านมาทางสภาฯ ก็ได้ ช่วยกันบอกว่าอะไรที่ไม่ดีและอะไรที่เป็นข่าวลวง” สถาพร กล่าว