เปิดโผ! 30 หุ้นอยู่ช่วง “ซื้อคืน” จับตามีโอกาสเด้งเร็ว

จับตา 30 หุ้นที่กำลังอยู่ระหว่างซื้อหุ้นคืน อาจช่วยจำกัดการลดลงของราคาได้ แต่จะดีดกลับเร็วเมื่อตลาดฟื้นตัว พร้อมจับตา 4 หุ้น มีเงื่อนไขครบทุกข้อที่อาจซื้อหุ้นคืน HANA, OR, GFPT และ PTTGC


รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผยถึงจำนวนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ประกาศการรับซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) ณ วันที่ 31 มี.ค. 2568 พบว่า มีจำนวน 30 บริษัท คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 36,845 ล้านบาท แบ่งเป็น บจ.ใน SET จำนวน 26 บริษัท วงเงินรวม 26,590 ล้านบาท และ mai จำนวน 4 บริษัท วงเงินรวม 255 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประกอบด้วยหมวดเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (AGRO) จำนวน 2 บริษัท วงเงิน 216 ล้านบาท, ธุรกิจการเงิน (FINCIAL) จำนวน 2 บริษัท วงเงิน 7,500 ล้านบาท, สินค้าอุตสาหกรรม (INDUS) จำนวน 5 บริษัท วงเงิน 430 ล้านบาท, อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (PROPCON) จำนวน 6 บริษัท วงเงิน 1,575 ล้านบาท, ทรัพยากร (RESOURC) จำนวน 3 บริษัท วงเงิน 16,700 ล้านบาท, บริการ (SERVICE) จำนวน 10 บริษัท วงเงิน 9,874 ล้านบาท, เทคโนโลยี (TECH) จำนวน 2 บริษัท วงเงิน 550 ล้านบาท เป็นต้น

สำหรับบจ.ที่ประกาศการรับซื้อหุ้นคืน ณ วันที่ 31 มี.ค. 2568 จำนวน 30 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE วงเงิน 500 ล้านบาท, บริษัท อาซีฟา จำกัด (มหาชน) หรือ ASEFA วงเงิน 70 ล้านบาท, บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASP วงเงิน 500 ล้านบาท, บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) หรือ DRT วงเงิน 320 ล้านบาท, บริษัท เอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ EKH วงเงิน 400 ล้านบาท

บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO วงเงิน 7,000 ล้านบาท, บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) หรือ HUMAN วงเงิน 250 ล้านบาท, บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III วงเงิน 125 ล้านบาท, บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL วงเงิน 300 ล้านบาท, บริษัท คิงส์เมน ซี.เอ็ม.ที.ไอ. จำกัด (มหาชน) หรือ K วงเงิน 75 ล้านบาท

บริษัท เกียรติธนา ขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT วงเงิน 30 ล้านบาท, บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN วงเงิน 100 ล้านบาท, บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) หรือ MGC วงเงิน 100 ล้านบาท, บริษัท ไพโอเนียร์ มอเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIMO วงเงิน 30 ล้านบาท, บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM วงเงิน 600 ล้านบาท

บริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSL วงเงิน 675 ล้านบาท, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT วงเงิน 16,000 ล้านบาท, บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SFLEX วงเงิน 50 ล้านบาท, บริษัท ศิครินทร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SKR วงเงิน 700 ล้านบาท, บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNC วงเงิน 180 ล้านบาท

บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SORKON วงเงิน 81 ล้านบาท, บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SSP วงเงิน 200 ล้านบาท, บริษัท สเตคอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ STECON วงเงิน 990 ล้านบาท, บริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SYNTEC วงเงิน 150 ล้านบาท, บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAN วงเงิน 24 ล้านบาท

บริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THANA วงเงิน 30 ล้านบาท, บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN วงเงิน 135 ล้านบาท, บริษัท เอสเตติก คอนเนค จำกัด (มหาชน) หรือ TRP วงเงิน 120 ล้านบาท, ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB วงเงิน 7,000 ล้านบาท และบริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) หรือ VIH วงเงิน 200 ล้านบาท

ส่วน 10 อันดับบจ.ซื้อหุ้นคืนสูงสุดไตรมาส 1/2568 ได้แก่ PTT วงเงิน 16,000 ล้านบาท ซึ่งตามที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน จำนวนไม่เกิน 470 ล้านหุ้น เริ่มต้นโครงการซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 2568 และครบกำหนดโครงการดังกล่าววันที่ 23 ก.ย. 2568 ล่าสุดซื้อหุ้นคืนแล้ว 117.56 ล้านหุ้น ใช้เงินไป 3,779.89 ล้านบาท

HMPRO วงเงิน 7,000 ล้านบาท ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน จำนวนไม่เกิน 800 ล้านหุ้น เริ่มต้นโครงการซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2568 และครบกำหนดโครงการดังกล่าววันที่ 30 ก.ย. 2568 ล่าสุดซื้อหุ้นคืนแล้ว 1 ล้านหุ้น ใช้เงินไป 8.37 ล้านบาท

TTB วงเงิน 7,000 ล้านบาท ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน จำนวนไม่เกิน 3,500 ล้านหุ้น เริ่มต้นโครงการซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 2568 และครบกำหนดโครงการดังกล่าววันที่ 1 ส.ค. 2568 ล่าสุดซื้อหุ้นคืนแล้ว 308.10 ล้านหุ้น ใช้เงินไป 600.06 ล้านบาท

STECON วงเงิน 990 ล้านบาท ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน จำนวนไม่เกิน 150 ล้านหุ้น เริ่มต้นโครงการซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 2568 และครบกำหนดโครงการดังกล่าววันที่ 17 ก.ย. 2568 ล่าสุดซื้อหุ้นคืนแล้ว 99,600 หุ้น ใช้เงินไป 547,800 บาท

SKR วงเงิน 700 ล้านบาท ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน จำนวนไม่เกิน 87.50 ล้านหุ้น เริ่มต้นโครงการซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2568 และครบกำหนดโครงการดังกล่าววันที่ 25 ก.ย. 2568 ปัจจุบันยังไม่มีการซื้อหุ้นคืน

PSL วงเงิน 675 ล้านบาท ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน จำนวนไม่เกิน 155.93 ล้านหุ้น เริ่มต้นโครงการซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2568 และครบกำหนดโครงการดังกล่าววันที่ 29 ส.ค. 2568 ล่าสุดซื้อหุ้นคืนแล้ว 14.52 ล้านหุ้น ใช้เงินไป 92.03 ล้านบาท

PRM วงเงิน 600 ล้านบาท ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน จำนวนไม่เกิน 75 ล้านหุ้น เริ่มต้นโครงการซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2568 และครบกำหนดโครงการดังกล่าววันที่ 3 ก.ย. 2568 ล่าสุดซื้อหุ้นคืนแล้ว 52.02 ล้านหุ้น ใช้เงินไป 337.43 ล้านบาท

ACE วงเงิน 500 ล้านบาท ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน จำนวนไม่เกิน 400 ล้านหุ้น เริ่มต้นโครงการซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2568 และครบกำหนดโครงการดังกล่าววันที่ 5 ก.ย. 2568 ล่าสุดซื้อหุ้นคืนแล้ว 11.99 ล้านหุ้น ใช้เงินไป 15.30 ล้านบาท

ASP วงเงิน 500 ล้านบาท ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน จำนวนไม่เกิน 210 ล้านหุ้น เริ่มต้นโครงการซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2568 และครบกำหนดโครงการดังกล่าววันที่ 30 ก.ย. 2568 ปัจจุบันยังไม่ดำเนินซื้อหุ้นคืน

EKH วงเงิน 400 ล้านบาท ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน จำนวนไม่เกิน 63.49 ล้านหุ้น เริ่มต้นโครงการซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. 2568 และครบกำหนดโครงการดังกล่าววันที่ 11 ก.ค. 2568 ล่าสุดซื้อหุ้นคืนแล้ว 27.77 ล้านหุ้น ใช้เงินไป 174.36 ล้านบาท

รายงานข่าวจาก ตลท. ระบุอีกว่า เหตุผลในการ “ซื้อหุ้นคืน” ของเหล่าบจ.นั้น หลัก ๆ เพื่อเป็นการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้แก่ส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) รวมถึงเพิ่มอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ให้มากขึ้น และยังเพื่อเป็นการตอกย้ำและแสดงให้เห็นถึงสภาพคล่องของบริษัทยังคงมีเหลืออยู่เพียงพอ ด้วยสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง ตลอดจนยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน และสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว

4 บจ.จ่อซื้อหุ้นคืน

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จากกระแสการออกโครงการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็มีการสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ ที่มีฐานะการเงินพร้อม ได้ใช้ช่วงเวลานี้ในการบริหารเงินทุนของตนเองไปในตัว ทำให้ปีนี้มีโอกาสจะเห็นการซื้อหุ้นคืนมากกว่าปกติ และเป็นวงเงินมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท แต่คำถามสำคัญคือ บจ.ไหนที่มีศักยภาพในการประกาศรายถัดไป บล.บัวหลวง จึงได้หาหุ้นที่ Cover ผ่านเงื่อนไข คือ

1) ผลตอบแทนจากต้นปี (YTD) ลงมากกว่า 5% (บางรายลงต่อมาจากปีที่แล้ว)

2) อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Net Gearing) น้อยกว่า 1 เท่า หรือเทียบเท่า

3) เงินทุนหมุนเวียน (Current ratio) มากกว่า 1 เท่า

4) อัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (Price to Book Value : P/BV Ratio) น้อยกว่า 1 เท่า หรือกำไรต่อหุ้น (PER) น้อยกว่า 20 เท่า (ในบางกรณีที่เป็นหุ้นมูลค่าสูง)

5) มีกระแสเงินสดครอบคลุมวงเงินการซื้อหุ้นคืนที่ 4% ของทั้งหมด (ใช้ตัวเลขค่าเฉลี่ยช่วงที่ผ่านมา แต่เกณฑ์ได้ถึงไม่เกิน 10%) และ

6) ณ ปลายปี มีเงินสดเพียงพอกับการจ่ายหนี้ระยะสั้น

สำหรับหุ้นที่เข้าทุกเงื่อนไข 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR, บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC

ด้านนายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บจ.ที่อยู่ระหว่างการทำเรื่อง Treasury Stock ในช่วงตลาดหุ้นปรับลงแรง อาจจะพอช่วยจำกัดการปรับตัวของราคาหุ้นได้บ้าง แต่ข้อดีคือ เมื่อตลาดหุ้นฟื้นตัว หุ้นที่กำลังซื้อหุ้นคืนเหล่านี้จะมีโอกาสเด้งเร็ว จึงน่าจะเป็นจังหวะการทยอยสะสมได้

Back to top button