
WSOL สั่งรื้อ SABUY ยกมาตรฐานระบบบัญชี ลุยแก้หนี้-ทรัพย์สิน พ่วงธรรมาภิบาล
WSOL ลุยฟื้นฟู SABUY แบบถอนราก ยกมาตรฐานระบบบัญชี ตรวจสอบทรัพย์สิน เตรียมยื่นฟ้องลูกหนี้ พร้อมเคลียร์หนี้สถาบันการเงิน ตั้งเป้าฟื้นฟูธุรกิจ พ่วงธรรมาภิบาล สร้างความเชื่อมั่นผู้ถือหุ้น
นายอิทธิชัย พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิว เอส โอ แอล จำกัด (มหาชน) หรือ WSOL กล่าวว่า ภายหลังที่ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารกลุ่มใหม่เข้ามาดำเนินงานในระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินงานแก้ไขปัญหาเรื่องการค้างชำระหุ้นกู้ ปรับโครงสร้างกิจการบางส่วนให้สามารถกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตามภารกิจสำคัญที่คณะกรรมการต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนต่อไป คือ การปรับปรุงระบบควบคุมภายใน ยกระดับความโปร่งใส เสริมสร้างธรรมาภิบาลให้แก่ธุรกิจทั้งเครือสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ และสร้างความเชื่อมั่นในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
โดยจะมุ่งดำเนินการตามแผนอย่างจริงจัง 3 ด้าน คือ การฟื้นฟูธุรกิจหลักให้กลับมาดำเนินงานได้อย่างมีเสถียรภาพ การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นต่าง ๆ อย่างรอบคอบ
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบงบการเงิน และฐานะทางการเงินของบริษัทฯ โดยละเอียด นำไปสู่การตรวจพบความผิดปกติและได้แจ้งต่อผู้สอบบัญชีทราบถึงทรัพย์สินและหนี้สินที่แท้จริง เป็นที่มาของการรายงานงบการเงินประจำปี 2567 ของบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY สำหรับประเด็นต่างๆ ที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้ชี้แจงประกอบด้วย
1.ประเด็นเรื่องสินค้าคงเหลือสูญหาย
1.1 สินค้าคงเหลือของบริษัทฯ พบผลต่างระหว่างปริมาณ สินค้าคงเหลือและอุปกรณ์ที่บันทึกในระบบ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 กับปริมาณที่ตรวจนับได้จริง รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 125.4 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการบันทึกผลต่างดังกล่าวในงบการเงินประจำปี 2567 แล้ว
จากการพิจารณาจากรายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้นของฝ่ายจัดการ คณะกรรมการบริษัทมีความเห็นว่าสาเหตุหลักของผลต่างสินค้าคงเหลือ และอุปกรณ์ที่เกิดขึ้น (คิดเป็นประมาณ 90% ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด) มีแนวโน้มเกิดจาก ความคลาดเคลื่อน บกพร่อง ของการบันทึกข้อมูลในระบบสินค้าคงเหลือ อาทิ การยกยอดข้อมูลสินค้าคงเหลือที่ผิดพลาดสะสมมาตั้งแต่อดีต ระบบการบริหารจัดการสินค้าคงเหลือไม่มีฟังก์ชันรองรับการตัดยอดวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตตู้, ไม่มีระบบรองรับการเปลี่ยนหรือสับเปลี่ยนอะไหล่, ไม่มีการจัดประเภทหรือสถานะของอะไหล่อย่างชัดเจน และอะไหล่ที่หมดอายุหรือไม่ได้ใช้งานยังคงแสดงอยู่ในระบบเป็นสินค้าคงเหลือ
คณะกรรมการบริษัทมอบหมายให้ฝ่ายจัดการชุดใหม่เร่งแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุลักษณะเดียวกันขึ้นอีก โดยตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียด และสรุปผลการตรวจสอบให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด ปรับปรุงระบบการบันทึกข้อมูลสินค้าคงเหลือให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน กำหนดให้มีการตรวจนับสินค้าคงเหลือทุกเดือน รวมถึงแยกประเภทและสถานะของอะไหล่ในการจัดเก็บอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ยังมีมาตรการเบื้องต้นเพื่อป้องกันการทุจริต อาทิ การติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV), การจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำพื้นที่ รวมถึงการจำกัดและควบคุมการเข้า-ออกพื้นที่คลังสินค้าอย่างเข้มงวด
1.2 สินค้าคงเหลือสูญหายของบริษัท พลัสเทค อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัท คณะกรรมการของบริษัท พลัสเทค อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTECH อยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะสินค้าคงเหลือที่สูญหาย ซึ่งจะรายงานผลการตรวจสอบให้บริษัททราบในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และดำเนินการแจ้งและรายงานความคืบหน้าเพิ่มเติมให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทราบโดยเร็วต่อไป
2.ประเด็นเรื่องการลงทุนในบริษัท ลอคบอกซ์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ลอคบอกซ์ เวนเจอร์ส์ จำกัด และการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับค่าความนิยม (Goodwill) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาผลการประเมินจากผู้ประเมินราคาอิสระ ซึ่งหากแล้วเสร็จบริษัทจะดำเนินการจัดสรรราคาซื้อ (PPA) และบันทึกผลกระทบที่เกี่ยวข้องในงบการเงินไตรมาสที่ 1 หรือ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 อย่างเหมาะสมตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ซึ่งเป็นไปตามกรอบเวลาปกติของการ เข้าซื้อธุรกิจ ที่ระยะเวลา 6–12 เดือน ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน
คณะกรรมการบริษัทฯ จะดำเนินการประเมินการด้อยค่า (impairment test) ภายหลังจากที่กิจการมีระยะเวลาการดำเนินงานที่เหมาะสมและเพียงพอ เพื่อให้สามารถประเมินผลการดำเนินงานที่แท้จริงและศักยภาพในการสร้างกระแสเงินสดของกิจการได้อย่างรอบคอบ และน่าเชื่อถือโดยจะดำเนินการทดสอบการด้อยค่าเป็นประจำทุกปีโดยไม่คำนึงถึงว่าจะมีข้อบ่งชี้ของการด้อยค่าหรือไม่
3.แนวทางการจัดการกรณีถูกสถาบันการเงินฟ้องคดีแพ่งจากการผิดนัดชำระหนี้ความคืบหน้าการเจรจา และแนวทางการติดตามหนี้กับบริษัท ทีเอสอาร์ ลิฟวิ่ง โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TSR รวมทั้ง มาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงกรณีอาจจจะไม่ได้รับชำระหนี้อีก ปัจจุบันบริษัทได้บรรลุข้อตกลงกับสถาบันการเงินรายหนึ่ง และลงนามในสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับกรณีของ TSR ซึ่งเป็นลูกหนี้ของบริษัทนั้น ได้มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับยอดหนี้ที่เกี่ยวข้องไว้เต็มจำนวนในงบการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เพื่อสะท้อนความเป็นจริงทางการเงิน และบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่ได้รับชำระหนี้ดังกล่าว
นอกจากนี้ยังได้เริ่มดำเนินการฟ้องร้องเรียกหนี้ตามกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อบังคับชำระหนี้คืน และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อบริษัท
ทั้งนี้ บริษัทได้วางแนวทางการดำเนินธุรกิจในอนาคต และการขาดทุนจากการวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน (Fair Value Loss) ได้แก่
1.พลิกฟื้นผลประกอบการของธุรกิจหลัก ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กร ลดต้นทุนคงที่ และมุ่งเน้นธุรกิจที่มีความสามารถทำกำไรสูง ได้แก่ B2B Solutions ที่มุ่งเน้นให้บริการแก่องค์กรเป็นหลัก ได้แก่ Thai British Securityและ WSOL Solutions, B2C Solutions ที่ให้บริการแก่ผู้บริโภคโดยตรง ได้แก่ Prompt Speed Commerce, Prompt Term และ Lock Box และ Financial Solutions ที่ให้บริการระบบธุรกรรมการเงิน ได้แก่ Love Prompt
2.ขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักเพื่อลดความซับซ้อน เพิ่มความสามารถในการจัดการ อีกทั้งหยุดการขาดทุน และนำกระแสเงินสดที่ได้มาเสริมสภาพคล่องธุรกิจหลัก
3.เดินหน้าเจรจาปรับโครงสร้างหนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นในอดีต และปรับเงื่อนไขหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทฯ โดยหนึ่งในแนวทางที่นำมาใช้ คือ การเสนอใช้สินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักเพื่อชำระหนี้บางส่วน ซึ่งสามารถลดภาระหนี้รวมไปแล้วกว่า 700 ล้านบาท และลดต้นทุนทางการเงินในแต่ละเดือนลงได้มากกว่า 50%
4.ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล ผ่านการเสริมทีมผู้บริหาร ทบทวนนโยบาย และตรวจสอบรายการในอดีตที่อาจไม่โปร่งใส
5.การขาดทุนจากการวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน (Fair Value Loss) จำนวน 111.40 ล้านบาท เป็นผลจากการปรับปรุงมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินที่บริษัทถือครอง ให้สอดคล้องกับภาวะตลาดในปัจจุบัน แนวโน้มของธุรกิจ และหลักการบัญชีตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS 9 ประกอบกับแนวทางปฏิบัติด้านความระมัดระวังทางบัญชี (Prudence Principle) ซึ่งเป็นผจากการวัดมูลค่าสินทรัพย์ใหม่ตามราคายุติธรรม (Mark-to-Market) ณ วันสิ้นงวดบัญชี
“บริษัทขอยืนยันว่าจะยังคงให้ความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต. อย่างใกล้ชิด และหากมีข้อมูลใดที่มีนัยสำคัญ บริษัทจะไม่ลังเลที่จะเปิดเผยและดำเนินการตามแนวทางที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ทีมผู้บริหาร WSOL จะยังคงเดินหน้าพลิกฟื้นกิจการต่อไปด้วยความตั้งใจ และความรับผิดชอบสูงสุด เพื่อทำให้บริษัทกลับไปสู่จุดที่แข็งแรง และสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างแท้จริง” นายอิทธิชัย กล่าว