
3 หุ้น “อาหารสัตว์” งานเข้า! โบรกหั่นเป้า-กำไร เซ่นภาษีทรัมป์ดันต้นทุน-ออเดอร์ลด
“บล.ทิสโก้” ชี้ สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้ากระทบส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง-ปลาทูน่าไทย ฉุดความสามารถแข่งขัน 3 หุ้นอาหารสัตว์ พร้อมหั่นราคาเป้าหมาย พ่วงกำไรปีนี้ถ้วนหน้า
บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยบทวิเคราะห์ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ว่า การที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอาหารจากประเทศไทยในหมวดอาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารทะเล โดยเฉพาะปลาทูน่า จากอัตราปลอดภาษี (0%) เป็น 36% ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ประกอบการไทย ทั้งในด้านต้นทุนและความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกหลัก โดยการปรับขึ้นภาษีมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน เป็นต้นไป
โดยจากข้อมูลในปี 2566 สหรัฐฯ นำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ โดยไทยครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 35% หรือราว 598 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะได้รับผลกระทบหนักเมื่อเทียบกับคู่แข่งหลักอย่างแคนาดาและเม็กซิโกที่เสียภาษีเพียง 25% ขณะเดียวกันในกลุ่มปลาทูน่าแปรรูป ไทยยังเป็นผู้นำตลาดด้วยมูลค่าส่งออก 518 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 43.8% ของตลาด แต่กลับต้องแบกรับภาษีใหม่สูงกว่าคู่แข่ง เช่น เอกวาดอร์ที่เสียภาษีเพียง 10% เท่านั้น
สำหรับผลกระทบโดยตรงดังกล่าวกดดันต่อหุ้นในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะ AAI, ITC และ TU ที่มีสัดส่วนรายได้จากตลาดสหรัฐฯ สูงถึง 55%, 50% และ 39% ตามลำดับ ทั้งจากกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงและปลาทูน่า ขณะที่ SAPPE, CHAO และ TVO ได้รับผลกระทบจำกัดเพียง 5–6% และ CPF กับ RBF ที่ไม่ถึง 1% นอกจากนี้ ทิสโก้ ยังประเมินว่า ทุกๆ การเปลี่ยนแปลงรายได้จากตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 10 จะส่งผลต่อกำไรสุทธิของ AAI, ITC และ TU ราว ±5.9%, ±5.6% และ ±9.5% ตามลำดับ
ด้านผลประกอบการไตรมาส 1/2568 ทิสโก้ คาดการณ์ว่ากลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและปลาทูน่าจะชะลอตัวลง โดยเฉพาะกลุ่ม Pet Food ที่เผชิญปัญหาค่าขนส่งสูง และการชะลอคำสั่งซื้อจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรง ขณะที่ราคาปลาทูน่าซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก ปรับเพิ่มขึ้นราว 10% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1,600–1,700 ดอลลาร์ต่อตัน กดดันอัตรากำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ทิสโก้ ได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของ AAI ลง โดยคาดกำไรไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ 195 ล้านบาท ลดลง 19% จากปีก่อนหน้า ขณะที่รายได้จากอาหารสัตว์เลี้ยงยังเติบโตจากฐานต่ำในปีก่อน แต่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาปลาทูน่าและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารส่งผลให้กำไรชะลอตัว โดยคาดการณ์ว่า AAI จะมีกำไรสุทธิทั้งปี 2568 อยู่ที่ 860 ล้านบาท ลดลง 14% จากปีก่อน และปี 2569 อยู่ที่ 894 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 4%
ด้าน ITC คาดการณ์ว่ากำไรไตรมาสแรกอยู่ที่ 683 ล้านบาท ลดลง 17% เทียบกับปีก่อน และ 14% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับผลกระทบจากต้นทุนปลาทูน่า ค่าเสื่อมจากโรงงานใหม่ และค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่เพิ่มขึ้น แม้จะมีคำสั่งซื้อบางส่วนเลื่อนเข้ามาจากปลายปีก่อน อย่างไรก็ดี ทิสโก้ยังคาดว่า ITC จะฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยในช่วงที่เหลือของปี และได้ปรับลดประมาณการกำไรทั้งปี 2568 ลงเหลือ 2.98 พันล้านบาท (-17% จากปีก่อนหน้า) และปี 2569 ที่ 3.14 พันล้านบาท (+5% จากปีก่อนหน้า)
สำหรับ TU ประเมินว่ากำไรไตรมาส 1/2568 จะอยู่ที่ 710 ล้านบาท ลดลงถึง 38% จากปีก่อนหน้า และ 41% จากไตรมาสก่อน จากรายได้และอุปสงค์ที่ลดลง รวมถึงต้นทุนปลาทูน่าที่สูงขึ้น แม้จะมีส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจ Avanti เข้ามาช่วย ดังนั้น บล.ทิสโก้ จึงปรับลดกำไรทั้งปี 2568 ลงเหลือ 4.4 พันล้านบาท (-12% จากปีก่อน) และคาดการณ์ว่าปี 2569 จะฟื้นตัวขึ้น 16% จากปีก่อนหน้า พร้อมหั่นราคาเป้าหมาย TU ลงเหลือ 11.3 บาทต่อหุ้น จากเดิม 14.8 บาท
อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มบริษัทที่ได้รับผลกระทบจะยังคงมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง เช่น AAI และ ITC ที่เป็นบริษัท Net Cash และ TU ที่มีอัตราหนี้สินต่ำ แต่ภาพรวมแนวโน้มการเติบโตถูกกดดันจากนโยบายภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ฝ่ายวิจัย บล.ทิสโก้ ปรับคำแนะนำการลงทุนของหุ้นกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงลง โดยแนะนำ “ขาย” สำหรับ AAI และปรับราคาเป้าหมายลงในทุกบริษัทเพื่อสะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
แฮชแท็ก:
#AAI #ITC #TU #ส่งออกไทย #ภาษีนำเข้า #ปลาทูน่า #อาหารสัตว์เลี้ยง #หุ้นกลุ่มอาหาร #TiscoResearch #เศรษฐกิจโลก #การวิเคราะห์หุ้น