“จีน” เปิดตัวเลข “CPI-PPI” หดตัว สะท้อนภาวะ “เงินฝืด”

“เงินเฟ้อจีน” ชะลอตัวต่อเนื่อง ดัชนี CPI และ PPI เดือนมี.ค.ติดลบ สะท้อนภาวะเงินฝืด ขณะที่สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ปะทุรอบใหม่ เพิ่มแรงกดดันเศรษฐกิจ


สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยในวันนี้ (10 เมษายน) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ ปรับตัวลดลง 0.1% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบรายปี แม้จะลดลงน้อยกว่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่หดตัวถึง 0.7% แต่ตัวเลขดังกล่าวยังคงต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะทรงตัว สะท้อนถึงแรงกดดันด้านเงินฝืดที่ยังคงกดทับเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งสะท้อนต้นทุนสินค้าที่ระดับโรงงาน ร่วงลง 2.5% เมื่อเทียบรายปี ถือเป็นการหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ที่ 2.3% โดยดัชนี PPI ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 29 ติดต่อกัน ตอกย้ำภาวะเงินฝืดเชิงโครงสร้างที่เศรษฐกิจจีนต้องเผชิญมาอย่างยาวนาน

โดยการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยล่าสุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% จากเดิม 104% โดยมีผลบังคับใช้ในทันที เพื่อตอบโต้จีนที่เพิ่งประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ จาก 34% เป็น 84% มีผลในวันที่ 10 เมษายนเช่นกัน

สำหรับความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจส่งผลลบเพิ่มเติมต่อภาคการผลิตและการส่งออกของจีน ซึ่งกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งภาวะเงินฝืดและการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ นักลงทุนทั่วโลกยังคงจับตาท่าทีและมาตรการตอบโต้ของทั้งสองประเทศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลกระทบลุกลามต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป

Back to top button