
KS หั่นกำไรหุ้น “อิเล็กทรอนิกส์” ปี 68-69 ลง 9% รับผลกระทบภาษีนำเข้าสหรัฐ
“บล.กสิกร” ประเมินกลุ่ม “ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์” เผชิญแรงกดดันจากภาษีตอบโต้สหรัฐฯ พร้อมปรับลดประมาณการกำไรปี 68-69 ลงเฉลี่ย 9% ต่อปี
บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินแนวโน้มของกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Components Sector) ว่ายังคงเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในอัตรา 10% เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกจากประเทศไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของหุ้นในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะหุ้น HANA และ KCE ที่มีสัดส่วนรายได้จากตลาดสหรัฐฯ รวมกันมากกว่า 40% ของรายได้รวม
โดยในรายงานระบุว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าวอยู่ภายใต้แนวทาง “Reciprocal Tariff” หรือมาตรการภาษีแบบตอบโต้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน โดยประเมินว่าสินค้าไทยในกลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงถึง 125% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมด ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลต่อคำสั่งซื้อจากลูกค้าสหรัฐฯ ลดลง และไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังลูกค้าได้ในทันที โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง เช่น HANA ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากสหรัฐฯ มากถึง 70%
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ฝ่ายวิจัยของ KS ปรับลดประมาณการกำไรของกลุ่มหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ลงเฉลี่ย 9% ต่อปีในช่วงปี 2568-2569 เพื่อสะท้อนผลกระทบจากภาษีนำเข้าในอัตรา 10% โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบด้านอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ที่คาดว่าจะลดลงเฉลี่ย 1.5% จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังระบุว่า ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ผลิตไทยอาจลดลงเมื่อเทียบกับคู่แข่งจากประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว
สำหรับคำแนะนำการลงทุน ฝ่ายวิจัยยังคงมุมมอง “เป็นกลาง” ต่อกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แม้แนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 จะทยอยฟื้นตัว แต่การประเมินมูลค่าหุ้นหลายตัวในกลุ่มยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภาษีในครึ่งปีหลัง ทำให้ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน โดยปรับลดการประเมินคุณภาพ หุ้น DELTA ด้วยราคาเป้าหมายที่ 56.00 บาท ส่วนหุ้นอื่น ๆ ได้แก่ HANA ที่ 15.50 บาท, KCE ที่ 16.00 บาท และ SVI ที่ 7.50 บาท
ทั้งนี้ ตารางเปรียบเทียบมูลค่าหุ้นสะท้อนว่าหุ้นกลุ่มนี้มีค่า P/E ปี 2568 เฉลี่ยอยู่ที่ 23.7 เท่า และ P/BV เฉลี่ยที่ 2.7 เท่า ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) เฉลี่ยที่ 2.7% และ ROE เฉลี่ยในปี 2568 อยู่ที่ 10.7% โดย DELTA มีมูลค่าตลาดที่แพงที่สุดในกลุ่มด้วย P/E สูงถึง 49.4 เท่า และ P/BV สูงถึง 7.2 เท่า ในขณะที่ SVI เป็นหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำสุดในกลุ่มที่ 14.5 เท่า และยังมีการเติบโตของกำไรสุทธิบวกอยู่ที่ 14.2%