
“พิชัย” เดินเกมเจรจา “สหรัฐ” นำเข้า “ข้าวโพด-ก๊าซ-เครื่องบิน”
“พิชัย ชุณหวชิร” เผย รอสัญญาณจากสหรัฐฯ พร้อมบินเจรจา เร่งสรุปรายละเอียด ย้ำ 5 แนวทาง “Win-Win” แง้มลิสต์นำเข้า “ข้าวโพด-ก๊าซธรรมชาติ” ขณะชูดีล “การบินไทย” ซื้อโบอิ้ง ยืนยันไม่รับเนื้อสุกร
วันนี้ (11 เม.ย.68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาการค้าระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับภาคเอกชน เพื่อกำหนดแนวทางเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยมีตัวแทนสำคัญจากภาคอุตสาหกรรมและหอการค้าไทยเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง
นายพิชัย กล่าวว่า ขณะนี้ไทยได้จัดทำแนวทางเบื้องต้น 5 ข้อ เพื่อเตรียมไว้ใช้ในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ หนึ่งในประเด็นสำคัญ คือการเสนอให้นำเข้าสินค้าเกษตรอย่างข้าวโพดจากสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง โดยไม่กระทบต่อสินค้าเกษตรในประเทศ พร้อมตั้งเป้าขยายการส่งออกอาหารสัตว์จาก 21 ล้านตัน เป็น 27 ล้านตันต่อปี
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือ การนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันไทยมีความต้องการใช้กว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมีแผนดึงภาคเอกชนรายใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มพลังงาน มาหารือถึงแนวทางในการจะไปร่วมลงทุน
นอกจากนี้ นายพิชัย ยังจะเน้นถึงดีลสำคัญจากฝั่งไทย นั่นคือ การจัดซื้อเครื่องบินโดยสารจากโบอิ้ง จำนวน 45 ลำ ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เพื่อเป็นหนึ่งในหมุดเจรจาที่น่าสนใจ สะท้อนถึงความจริงจังของไทยในการสร้างความร่วมมือระยะยาวกับสหรัฐฯ
“ผมยังไม่ฟันธงวันเดินทาง ต้องรอจังหวะที่เหมาะสม” นายพิชัยกล่าว พร้อมเสริมว่า การเดินทางครั้งนี้จะพบกับบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อส่งสัญญาณถึงทิศทางและหลักการร่วมมือก่อนเข้าสู่การหารือรายละเอียดกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR)
“ไทยไม่ใช่ประเทศที่เป็นปัญหาเร่งด่วนในสายตาสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นต้องรอจังหวะเวลา” หัวหน้าคณะเจรจาฯ ระบุ
ในที่ประชุมวันนี้ นายพิชัย ยังเน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อผลักดันให้โอกาสนี้ไม่กระทบต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการภายในประเทศ แต่จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตใหม่ โดยเฉพาะภาคเกษตร อุตสาหกรรม
ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปแนวทางภายในวันจันทร์ที่ 14 เม.ย.นี้ ก่อนประกาศแผนการเดินทางอย่างเป็นทางการ
นายพิชัย ระบุว่า รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการปรับยุทธศาสตร์ของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อทบทวนเงื่อนไขและเปิดกว้างให้ผู้ลงทุนรายใหม่ที่มีศักยภาพเข้าสู่ประเทศไทยอย่างมีเป้าหมาย ขณะเดียวกันยังเตรียมแผนรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางจากความขัดแย้งของมหาอำนาจ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบในวงกว้าง และอยู่นอกเหนือจากผลของการเจรจาทางการค้าของไทยเพียงลำพัง