“ดาวโจนส์” ปิดเด้ง 619 จุด นักลงทุนคลายกังวล “สงครามการค้า”

ดาวโจนส์ปิดเด้ง 600 จุด คลายกังวลสงครามการค้าทรัมป์ ขณะที่ความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณหนุนตลาด


ผู้สื่อข่าวรายงาน ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (11 เม.ย.68) โดยได้แรงหนุนจากกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่เริ่มรายงานผลประกอบการไตรมาสแรก และนักลงทุนคลายความกังวลหลังจากที่การซื้อขายในสัปดาห์นี้เต็มไปด้วยความผันผวน อันเป็นผลจากการทำสงครามการค้าหลายด้านของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ช่วยหนุนตลาดด้วย

ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 40,212.71 จุด เพิ่มขึ้น 619.05 จุด หรือ +1.56%, ดัชนี S&P500 ปิดที่

ดัชนี S&P 500 และดัชนีดาวโจนส์ต่างก็ทำสถิติพุ่งขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2566 ขณะที่ดัชนี Nasdaq ทำสถิติบวกขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2565

ดัชนีหุ้นหลักทั้ง 3 ตัวปิดตลาดพุ่งขึ้นอย่างมาก หลัง ซูซาน คอลลินส์ ประธานเฟดสาขาบอสตันยืนยันว่า หากจำเป็น เฟดก็พร้อมจะเข้าแทรกแซงเพื่อให้ตลาดการเงินยังคงทำงานได้อย่างราบรื่น

นอกจากการยืนยันของคอลลินส์แล้ว จอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์กยังระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อสูงและการเติบโตต่ำ (stagflation) และเฟดจะดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าว

หุ้นทั้ง 11 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักในดัชนี S&P 500 ต่างก็ปิดในแดนบวก โดยกลุ่มวัสดุพื้นฐานและกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นมากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์

ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ราคาหุ้นถูกแรงซื้อขายแบบเหวี่ยงขึ้นลงอย่างหนักจากข่าวผ่อนปรนภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรป และการตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในสงครามการค้า โดยหนึ่งในสัญญาณของความผันผวนคือส่วนต่างระหว่างราคาสูงสุดและต่ำสุดของ S&P 500 ในสัปดาห์นี้กว้างที่สุดนับตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายประเทศถูกล็อกดาวน์เพราะการระบาดของโรคโควิด-19

จีนได้ตอบโต้การขึ้นภาษีของทรัมป์ ซึ่งทำให้อัตราภาษีรวมเพิ่มเป็น 145% โดยสงครามการค้าที่เกิดขึ้นได้สร้างแรงเหวี่ยงอย่างหนักในตลาด และทำให้ความคาดหวังเกี่ยวกับเงินเฟ้อของผู้บริโภคในระยะสั้นพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2524

สำหรับการรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกเริ่มต้นด้วยสัญญาณที่ดี โดยเจพีมอร์แกน เชส (JPMorgan Chase), มอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) และเวลส์ ฟาร์โก (Wells Fargo) ต่างรายงานผลกำไรดีกว่าคาด

อย่างไรก็ตาม คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจถดถอยจากข้อพิพาทด้านการค้านั้น ทำให้นักลงทุนบางส่วนยังลังเลต่อแนวโน้มของกลุ่มธนาคาร

ข้อมูลจาก LSEG บ่งชี้ว่า นักวิเคราะห์คาดว่า กำไรโดยรวมของบริษัทในดัชนี S&P500 จะเติบโตที่ 8.0% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์เดิมที่ระดับ 12.2%

ซิตี้ (Citi) ระบุในบันทึกถึงลูกค้าว่า ขณะนี้คาดว่าดัชนี S&P500 จะแตะระดับ 5,800 จุดภายในสิ้นปีนี้ ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ระดับ 6,500 จุด โดยให้เหตุผลว่าเกิดจากภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นและสัญญาณของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ด้านข้อมูลเศรษฐกิจยังแสดงให้เห็นว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเริ่มลดลง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง 0.4% ในเดือนมี.ค. ซึ่งต่างจากที่นักวิเคราะห์คาดไว้

อย่างไรก็ตาม รายงานอีกฉบับบ่งชี้ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ลดลง และการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะ 1 ปีข้างหน้าพุ่งขึ้นแตะ 6.7% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2524

Back to top button