
ถอดรหัส “ประยุทธ มหากิจศิริ” การต่อสู้ที่สะเทือนธุรกิจ “เนสกาแฟ” ประเทศไทย
"เจ้าพ่อเนสกาแฟ" ลุกฟ้องยักษ์ใหญ่เนสท์เล่ ปมบอกเลิกสัญญาร่วมทุน หลังครองภาพลักษณ์แบรนด์กาแฟอันดับหนึ่งของไทยมานานกว่า 50 ปี สู่มหากาพย์คดีพันล้านที่เขย่าวงการกาแฟไทย
หากเอ่ยถึง “เจ้าพ่อเนสกาแฟ” ชื่อของ “ประยุทธ มหากิจศิริ” เป็นชื่อที่หลายคนนึกถึง เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าแบรนด์ “เนสกาแฟ” ในประเทศไทยถูกสังคมเข้าใจมาโดยตลอดว่าเป็นของครอบครัว “มหากิจศิริ” ก่อนที่จะมีเรื่องที่ช็อกธุรกิจกาแฟไทยเมื่อนายประยุทธและนายเฉลิมชัย (บุตรชาย) ซึ่งได้รับหุ้นต่อจากนายประยุทธ ได้ยื่นฟ้องกรรมการ “เนสท์เล่ เอส เอ” บริษัทสัญชาติสวิสเซอร์แลนด์ เจ้าของแบรนด์เนสกาแฟ และกรรมการ “คิวซีพี” ฝ่ายเนสท์เล่ ต่อศาลแพ่งมีนบุรี หลังถูกบอกเลิกสัญญาการทำธุรกิจร่วมกัน ระหว่างนายประยุทธ์ กับ “เนสท์เล่ เอส เอ” อันเนื่องมาจากเงื่อนไขทางธุรกิจในการผลิต และจำหน่ายกาแฟในประเทศไทยในนามของ “เนสกาแฟ”
คำถามที่ยังอยู่ในใจคอกาแฟหลายคน…เหตุอะไรที่คนในครอบครัว “มหากิจศิริ” ต้องฟ้องร้องให้เป็นคดีความใหญ่โต ในเมื่อนายประยุทธคือภาพของ “เนสกาแฟ” ประเทศไทย เรื่องนี้อาจต้องย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกาแฟยี่ห้อดังอย่าง “เนสกาแฟ” ในบ้านเรา
เนสกาแฟ เป็นแบรนด์กาแฟที่มี “เนสท์เล่ เอส เอ” บริษัทสัญชาติสวิสเซอร์แลนด์ เป็นเจ้าของ ซึ่งเนสท์เล่ เอส เอ ได้เริ่มทําธุรกิจกาแฟในสวิสมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 ตามคําร้องขอขอรัฐบาลบราซิล ที่ต้องการให้ความ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในบราซิลที่ประสบปัญหาเมล็ดกาแฟล้นตลาด และใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น เนสกาแฟก็ขยายตลอดออกไปยังยุโรป อเมริกา และประเทศต่าง ๆ จนเป็นแบรนด์กาแฟยอดนิยม
สําหรับการทําธุรกิจกาแฟในประเทศไทย “เนสท์เล่ เอส เอ” ได้นําเข้าสินค้าเนสกาแฟมาจําหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2516 ก่อนที่นายประยุทธลงขันกับนักธุรกิจคนอื่น ตั้งบริษัทผลิต “เนสกาแฟ” ในไทย โดยให้ “เนสท์เล่ เอส เอ” เข้ามาถือหุ้นในบริษัทจำนวน 50% แต่หลังจากนั้นนายประยุทธ์ ได้ไปก่อตั้งบริษัท คิวซีพี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ เพื่อผลิตกาแฟสําเร็จรูปภายใต้แบรนด์เนสกาแฟหรือแบรนด์ของเนสท์เล่ และต้องขายสินค้าที่ผลิตได้ทั้งหมดให้บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) เท่านั้น
โดยที่ “เนสท์เล่ เอส เอ” ได้ถือหุ้นใน “คิวซีพี” คนละครึ่งกับนายประยุทธ โดยที่สูตรการผลิต เทคโนโลยี เครื่องจักร และซอฟแวร์ที่ใช้ในการผลิตกาแฟสําเร็จของบริษัท คิวซีพี นั้นเป็นของ “เนสท์เล่” ทั้งหมด แม้กระทั่งการลงไปช่วยเหลือเกษตรกรไทยในการพัฒนาพันธุ์กาแฟโรบัสต้าให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดโลกได้ ก็เป็นองค์ความรู้ที่ “เนสท์เล่” นํามาให้และทํางานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟของไทย และให้ “คิวซีพี” เป็นผู้รับซื้อเมล็ดกาแฟดังกล่าวมาผลิตเนสกาแฟ ที่สําคัญอํานาจในการควบคุมกระบวนการผลิตและบริหารโรงงานผลิตกาแฟของ “คิวซีพี”นั้น อยู่ภายใต้อํานาจการตัดสินใจของเนสท์เล่ตามสัญญา
ขณะที่นายประยุทธ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานบริษัท คิวซีพี และได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน ค่าตอบแทนประจําปีของกรรมการ รวมทั้งได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 1 จากยอดขายเนสกาแฟของ คิวซีพี ทุกปี รวมทั้งได้รับเงินปันผลจากกําไรของคิวซีพีอีกต่อหนึ่ง นับรวมรายได้หลักพันล้านบาท
การร่วมงานกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นายประยุทธ ในฐานะประธานคิวซีพี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกาแฟสําเร็จรูปของ “เนสกาแฟ” เป็นเพียงผู้ติดต่อประสานงานกับภาครัฐ และการออกงานสังคมและงานอีเวนต์ต่าง ๆ ของคิวซีพี และให้คําปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับงานอีเวนต์ต่าง ๆ แก่กรรมการผู้จัดการของคิวซีพี จุดนี้เอง ที่ทําให้ผู้คนรู้จัก ประยุทธ ในฐานะประธานของโรงงานผลิตเนสกาแฟ และเห็น ประยุทธ ยืนคู่กับผลิตภัณฑ์ของเนสกาแฟในงานอีเวนต์หรืองานสังคมต่าง ๆ
แต่ปัญหาอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2555 เมื่อสัญญาร่วมทุนระหว่างนายประยุทธกับเนสท์เล่ใกล้จะหมดอายุลง การเจรจาเรื่องการต่อสัญญาก็เริ่มต้นขึ้น แต่เมื่อเนสท์เล่เห็นว่าได้ให้ผลตอบแทนเป็นเวลานานแล้ว จึงไม่ต้องการต่อสัญญาอีกครั้ง ทำให้เกิดการฟ้องร้องและข้อพิพาทระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้ลากยาวไปถึงปี พ.ศ. 2565 และในที่สุดเนสท์เล่ก็ได้บอกเลิกสัญญาร่วมทุนตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้
เมื่อนำเรื่องอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศ ที่ประเทศอังกฤษ ปรากฏว่า อนุญาโตฯชี้ว่า ฝ่าย “เนสท์เล่” ได้ทําตามเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญาร่วมทุนถูกต้องครบถ้วนแล้ว และการบอกเลิกสัญญาร่วมทุนของ “เนสท์เล่” ก็ได้ทําโดยถูกต้อง ดังนั้น การบอกเลิกร่วมทุนกับนายประยุทธ จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และทำให้นายประยุทธ ต้องขาดรายได้หลายพันล้านบาท จากสิ่งที่ “เนสท์เล่” สร้างไว้ เพราะหากดูเนื้อในของ “คิวพีซี” ที่นายประยุทธ เหลืออยู่มีเพียงตัวโรงงานเท่านั้น
จึงเป็นที่มาที่นายประยุทธ์ และครอบครัว นำเรื่องนี้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี ในหลายกรณี โดยเฉพาะการกล่าวหาว่า “เนสท์เล่” และกรรมการ “คิวพีซี” ร่วมกันสมรู้ร่วมคิดทำลายธุรกิจกาแฟของคิวซีพี และยังขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้สามารถดำเนินการธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้หยุดการผลิต “เนสกาแฟ” ในประเทศไทยชั่วคราว ทำให้ทั้ง “เนสท์เล่”และผู้บริโภคต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน