“บล.บัวหลวง” ชี้ไทยเจรจาสหรัฐราบรื่น ลุ้นกลุ่ม “เนื้อสัตว์-พลังงาน-ก่อสร้าง” รับอานิสงส์

บล.บัวหลวง เผยกลยุทธ์รับมือการค้าสหรัฐฯ เรื่องของมาตรการภาษีพร้อมทั้งแผนรับมือผลกระทบ พร้อมแนะลงทุนกลุ่มหุ้นเนื้อสัตว์ พลังงาน ก่อสร้าง เตรียมรับอานิสงส์จากนโยบายรัฐเพื่อเสริมเศรษฐกิจในระยะยาว


บล.บัวหลวง ระบุถึงความเคลื่อนไหวสำคัญจากฝั่งรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ พร้อมเปิดเผยแผนการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงแนวทางรับมือผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางภาษีที่อาจเกิดขึ้น โดยมีประเด็นหลักที่น่าสนใจดังนี้

ประเด็นแรก รัฐบาลไทยเตรียมซื้อสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยนำเข้าอยู่แล้ว เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด เครื่องบิน และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแหล่งนำเข้าโดยไม่กระทบต่อการบริโภคหรือโครงสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศมากนัก

ประเด็นที่สอง มีการกล่าวถึงมาตรการเข้มงวดกับ “การสวมสิทธิ์ส่งออก” หรือพูดง่ายๆ คือ กรณีที่มีบางกลุ่มนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แล้วมาแปะป้ายว่าเป็นสินค้าผลิตในประเทศไทยเพื่อใช้สิทธิทางภาษี ซึ่งรัฐมนตรีระบุว่า รู้แล้วว่าใครเกี่ยวข้อง และจะเริ่มดำเนินการจัดการอย่างจริงจัง เพราะธุรกรรมลักษณะนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง

ต่อมาในประเด็นที่สาม คือเรื่องการนำเข้าหมูจากสหรัฐฯ ซึ่งรัฐมนตรีฯ ระบุชัดเจนว่า “โอกาสน้อยมาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้” ด้วยเหตุผลว่าประเทศไทยมีการผลิตหมูเพียงพออยู่แล้ว และหากเปิดนำเข้า จะกระทบกับเกษตรกรในประเทศโดยตรง รัฐจึงเน้นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต มากกว่าการเปิดนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป

ส่วนประเด็นที่สี่ มีนัยชัดเจนว่าโครงการแจกเงิน 10,000 บาทจะไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ โดยรัฐจะเน้น “การใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ” และอาจพิจารณายกเพดานหนี้สาธารณะชั่วคราว เพื่อนำงบประมาณไปใช้กับโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแทน ซึ่งหนึ่งในโครงการที่ถูกพูดถึงอย่างชัดเจนคือ “การพัฒนาระบบชลประทานของประเทศ”

ข้อมูลจากการค้นคว้าระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 149 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ที่อยู่ในระบบชลประทานเพียง 32 ล้านไร่ จากพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งหมด 61 ล้านไร่ ซึ่งหมายความว่าเรายังใช้ศักยภาพด้านชลประทานไปเพียงครึ่งเดียว การลงทุนในด้านนี้จึงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ กรมชลประทานเองก็มีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปี ที่ประกาศมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งระบุว่าจำเป็นต้องลงทุนในระบบชลประทานรวมกันไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท โดยโครงการหลัก ๆ ได้แก่ การสร้างแหล่งเก็บน้ำใหม่ เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ และการปรับปรุงระบบส่งน้ำให้ครอบคลุมมากขึ้น

สรุปโดยรวม แผนการของไทยในการเจรจากับสหรัฐฯ มีความชัดเจนในระดับหนึ่ง แต่ยังคงต้องจับตาดูว่า สหรัฐจะมองว่า “ชัดเจนพอ” หรือไม่ ขณะที่ในมุมของเศรษฐกิจภายใน จุดที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนนโยบายจาก “แจกเงิน” ไปสู่ “การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน” ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกในระยะยาว

มุมมองด้านการลงทุนจากข่าวนี้ ทางฝ่ายวิจัยมีมุมบอกต่อหุ้นที่คาดได้รับประโยชน์ ดังนี้

กลุ่ม บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG, บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG ดูจะได้รับผลดีจากนโยบายไม่เปิดนำเข้าหมู และต้นทุนอาหารสัตว์ที่อาจถูกลง

การนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น อาจเป็นบวกต่อกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และ บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF

กลุ่มก่อสร้างอย่าง บริษัท สเตคอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ STECON, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินภาครัฐที่จะเทเข้าสู่โครงการชลประทานและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ

Back to top button