ธปท.ชี้ GDP ปีนี้ต่ำ 2.5% แน่! 5 อุตฯส่งออกสหรัฐฯ เสี่ยงกระทบหนัก

ธปท. ประเมินปีนี้ GDP โตต่ำกว่าที่ประเมินไว้ 2.5% หลังเผชิญกำแพงภาษีสหรัฐกระทบไทยครึ่งหลังปี 68 เผยพร้อมแทรกแซงค่าเงินหากผิดปกติ แนะจับตาประชุม กนง. ฟันธงลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ 30 เม.ย.นี้


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (17 เม.ย.68) นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลกระทบเบื้องต้นของกำแพงภาษีของสหรัฐนั้น ธปท. ประเมินสถานการณ์และคงตอบไม่ได้ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ และต้องรอผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 30 เม.ย.นี้

เบื้องต้นได้ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) จะขยายตัวต่ำกว่า 2.5% แน่นอนแล้ว จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวในระดับ 2.5% ผลกระทบจะเกิดกับการส่งออกโดยตรงไปสหรัฐ ทำให้ในช่วงไตรมาสที่ 2/2568 จะเห็นการเร่งตัวของการส่งออกไทยไปสหรัฐ เช่น อาหารแปรรูปของไทยส่งออกไปสหรัฐคิดเป็น 18% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยและคิดเป็น 2.2% ของ GDP

โดยหลังจากนั้นในช่วงไตรมาสที่ 3-4/2568 จะเห็นความชัดเจนของกำแพงภาษีสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวในช่วงนั้น โดยอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปสหรัฐเป็นหลัก 5 อุตสาหกรรม คือ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน เกษตรและเกษตรแปรรูปเริ่มเห็นผลบ้างแล้ว มีบางส่วนรอความชัดเจนเพื่อตัดสินใจการลงทุนใหม่จากแผนเดิมที่วางไว้ หากไทยถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่น อาจเห็นการย้ายฐานการผลิตออกจากไทย

“จากปัญหากำแพงภาษีสหรัฐ ทำให้ ธปท.ประเมินจีดีพีใหม่แล้วพบว่า จะขยายตัวไม่ถึง 2.5% ซึ่งต้องรอดูพัฒนาการความชัดเจนของกำแพงภาษีสหรัฐในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568” นายสักกะภพ กล่าว

ทั้งนี้ การเจรจากับสหรัฐทั้งไทยและหลายประเทศ แค่พึ่งช่วงเริ่มต้น ผลกระทบจะทยอยเริ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ สหรัฐนำเข้าจากทั่วโลก 13% ไทยควรมองหาโอกาสในการขยายตลาดใหม่ เน้นต่อยอดอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร การท่องเที่ยว ทัวร์สุขภาพ การวิจัยพัฒนา การพัฒนาทักษะแรงงาน และปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการค้าระหว่างประเทศ ต้องรับมือการแข่งขันสินค้าจากต่างประเทศ ป้องกันการนำสินค้าเข้ามาเพื่อส่งออกไปอีกครั้ง ควรเร่งรัดการไต่สวนการทุ่มตลาด เข้มงวดตรวจสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐ

ส่วนเรื่องอัตราเงินเฟ้อของไทยปัจจุบันสวนทางกับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ ซึ่ง ธปท. จะชี้แจงเรื่องเงินเฟ้อหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินรอบวันที่ 30 เม.ย.2568 นี้ โดยยังคงมองกรอบเงินเฟ้อระยะปานกลาง ซึ่งระดับเงินเฟ้อที่ยังไม่เข้ากรอบนี้ มีส่วนช่วยเศรษฐกิจในแง่ต้นทุนการนำเข้าน้ำมันได้ระดับหนึ่ง

ขณะที่ ทิศทางค่าเงินบาท ธปท.ได้ดูแลการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติจากปัจจัยพื้นฐาน ถ้าผันผวนเกินไปจะเข้าไปดูแล โดยปล่อยเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามตลาด ล่าสุดดอลลาร์อ่อนค่าลง แต่ทางสหรัฐก็พยายามปรับสมดุลและเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน ล่าสุดสัดส่วนทุนสำรองทางการ ธปท.ก็ประเมินตลอดเวลา ไทยลงทุนกระจายความเสี่ยงไปที่สกุลเงินที่พัฒนาแล้ว ลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ทองคำ มีการมอนิเตอร์ติดตามการกระจายความเสี่ยง เงินบาทที่แข็งค่าก็สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินในภูมิภาค ตอนนี้ยังไม่ผิดปกติอะไร

Back to top button