ธปท.ชี้ช่องคลังเพิ่มไลเซนส์ “เวอร์ชวลแบงก์” หุ้นเทคตีปีก! จับตา BBL-VGI ชิงเฟสสอง

“แบงก์ชาติ” ยอมรับส่ง 3 รายชื่อผ่านเกณฑ์ธนาคารไร้สาขา พร้อมชี้ช่องคลังเพิ่มใบอนุญาตได้ แย้มอาจมีเปิดเฟสสองรองรับกลุ่มไม่ผ่านรอบแรก จับตา BBL-VGI มีโอกาสสูง ฟากผู้บริหาร GABLE-BBIK-BE8 ประกาศพร้อมรับจ๊อบใหญ่ ส่งซิกครึ่งหลังงานสายเทคทะลัก


นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์การรับใบอนุญาตธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank : VB) จำนวน 3 รายไปถึงนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาตามลำดับเวลา ซึ่งกระทรวงการคลังมีเวลาพิจารณาถึงวันที่ 19 มิ.ย. 2568 นี้

ส่วนรายชื่อที่ปรากฏผ่านสื่อมวลชนไปก่อนหน้านี้ ธปท.ขออนุญาตยังไม่ชี้แจงรายชื่อดังกล่าว ดังนั้นจึงยังไม่ใช่รายชื่อออกมาอย่างเป็นทางการ เมื่อกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเสร็จ จะออกประกาศกระทรวงการคลังต่อไป ส่วนจำนวนไลเซนส์ที่มองว่าเหมาะสม ช่วงเริ่มต้นการมีธนาคารไร้สาขาและเพื่อการกำกับดูแลความเสี่ยงให้เกิดความเหมาะสม เห็นว่าไม่ควรเกิน 3 ราย

“แม้ว่าธปท.จะส่งรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์ธนาคารไร้สาขาจำนวน 3 ราย แต่ตามอำนาจของกระทรวงการคลัง มีสิทธิ์ตัดสินใจได้ว่าจะออกกี่ไลเซนส์ ตามขั้นตอน คลังสามารถสอบถามธปท.เพิ่มเติมได้ว่าอีก 2 รายที่ไม่ผ่านด้วยสาเหตุอะไร ส่วนกรณีผู้สื่อข่าวถามว่าคลังเห็นควรเพิ่มรายชื่ออีก 1-2 รายที่ไม่ผ่านเป็นการเพิ่มเติมได้หรือไม่ ขอชี้แจงว่าตามกฎหมาย ธปท.ต้องเป็นผู้เสนอรายชื่อ แล้วคลังจึงประกาศรายชื่อ ดังนั้นจึงควรอนุญาตกลุ่มที่ธปท.เสนอชื่อก่อน อย่างไรก็ตามอาจมีโอกาสเปิดเฟส 2 ก็ได้ ถ้าเฟสแรกผ่านไปด้วยดี”

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า เมื่อกระทรวงการคลังประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว ผู้ผ่านเกณฑ์จะมีเวลาเตรียมความพร้อม 1 ปี พร้อมจัดทำคู่มือประชาชน โดยธปท.จะตรวจสอบความพร้อมในการเปิดกิจการก่อน เมื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบทั้งหมดแล้วจึงจะอนุมัติไลเซนส์ให้ดำเนินกิจการต่อไป

โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวยอมรับว่า ได้รายชื่อผู้ขอรับใบอนุญาต Virtual Bank มา 3 กลุ่มจากการคัดเลือกของธปท. เพื่อให้พิจารณาแล้ว

ขณะที่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 3 กลุ่มที่ผ่านเกณฑ์ ได้แก่ 1)กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCB) ที่มีพันธมิตรใหญ่ 2 ราย คือ WeBank ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน และ KakaoBank ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้

2)กลุ่มของธนาคารกรุงไทย (KTB) ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR

3)กลุ่มแอสเซนด์มันนี่ ผู้ให้บริการอีวอลเล็ตภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่จับมือ Ant International ผู้นำด้านฟินเทค บริษัทในเครืออาลีบาบา (Albaba) จากจีน

ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) หรือ GABLE กล่าวว่า บริษัทพร้อมสนับสนุนผู้ที่ได้รับใบอนุญาต Virtual Bank โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่เกี่ยวข้องกับ Virtual Bank

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK กล่าวว่า บริษัทมีทีมงานที่มีความรู้ที่รองรับ และสนับสนุนผู้ได้รับใบอนุญาต Virtual Bank ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและให้คำปรึกษา

โดยบริษัทสามารถให้บริการได้ตั้งแต่ 1) การวางกลยุทธ์ในภาพรวม และการสร้างรายได้ 2) ระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ฝาก ถอน โอน จ่าย ซึ่งปัจจุบัน BBIK ก็มีลูกค้าที่เป็นสถาบันการเงิน ธนาคารขนาดใหญ่อยู่แล้ว จึงมีความเชี่ยวชาญในระบบดิจิทัลดังกล่าว 3)Data ที่ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของ Virtual Bank ที่อยากให้มีการใช้ Data ในการพิจารณาสินเชื่อและบริการลูกค้าต่าง ๆ เป็นต้น หากกระบวนการขอใบอนุญาตมีความชัดเจน คาดว่าจะได้งาน Virtual Bank เนื่องจากบริษัทมีจุดเด่นในขีดความสามารถในการดำเนินการได้

นายอภิเษก เทวินทรภักติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ BE8 เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่คาดว่าจะได้รับใบอนุญาต Virtual Bank อยู่หลายราย

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) มองว่าประเด็นดังกล่าวจะส่งผลบวกต่อกลุ่มที่ได้รับใบอนุญาตและกลุ่ม Digital Tech Consult ได้แก่ BE8, BBIK และ GABLE ที่มีโอกาสได้รับงานพัฒนาระบบเพิ่มเติม เนื่องจากตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องทำระบบแยกออกมาใหม่

ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มบริษัทร่วมทุนที่ผ่านการคัดเลือก มีโอกาสนำทรัพยากรในมือไปต่อยอดทางธุรกิจ รวมถึงการใช้ช่องทางสาขารองรับธุรกรรมที่จำเป็น เช่น การฝาก-ถอนเงินสด ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC จำนวนลูกค้ามือถือสิ้นปี 2567 อยู่ที่ 45 ล้านเลขหมาย

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE จำนวนลูกค้ามือถือสิ้นปี 2567 อยู่ที่ 49 ล้านเลขหมาย, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR จำนวนสมาชิก ณ ไตรมาส 4 ปี 2567 มากกว่า 6 ล้านราย และมีสถานีบริการน้ำมันประมาณ 2,340 สาขา

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL สมาชิก All Member ณ เดือนเมษายน 2567 มากกว่า 18 ล้านราย, Makro Card (ไม่มีข้อมูล) และ Club Card ของ Lotus’s ณ มีนาคม 2565 ราว 18 ล้านราย ร้านสะดวกซื้อในเครือมีจำนวนสาขาประมาณ 15,200 สาขา ร้านแม็คโคร (Makro) จำนวน 164 สาขา Lotus’s จำนวน 2,450 สาขา

ส่วนกลุ่มที่เป็นกลาง ได้แก่ กลุ่มธนาคาร โดยยังคงมุมมองเดิมว่า Virtual Bank จะไม่กระทบกลุ่มธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้พัฒนาระบบการเงินดิจิทัลอยู่แล้ว ขณะที่ฐานลูกค้า Virtual Bank ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงธนาคารดั้งเดิมได้

ขณะที่ กลุ่มที่ไม่ผ่านการคัดเลือก เช่น บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI มองว่าเป็น Sentiment ลบ โดยอยู่ระหว่างอัพเดตข้อมูลกับ VGI ว่าจะมีแผนอย่างไรต่อไปกับเงินเพิ่มทุน (PP) จำนวน 13,000 ล้านบาท ก่อนหน้านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนในธุรกิจ Virtual Bank (7,500 ล้านบาท) เบื้องต้นตลาดให้น้ำหนักกับโครงการ Entertainment Complex แทน

นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเทคโนโลยีที่มีบทบาทในกระแส Virtual Bank โดยเฉพาะผู้รับเหมาวางระบบ เช่น GABLE คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในด้านระบบคลาวด์ ศูนย์ข้อมูล และบริการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์

ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์ที่นำเข้ามาจะเป็นแบบมาตรฐาน (Headless) ต้องการการปรับแต่งเพิ่มเติม ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีของไทย และผู้ให้บริการด้านไอที อย่างเช่น BBIK, BE8, บริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์แมนซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SRS และบริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TBN จะได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงระบบการรวม API และการพัฒนา CRM ขณะที่บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือ BOL จะสามารถให้ข้อมูลผู้บริโภคได้มากขึ้น

“โมเมนตัมของ Virtual Bank ในประเทศไทย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นช่วงครึ่งหลังปี 2568 ส่งผลให้ความต้องการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก”

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต BBIK ปี 2568-2569 ได้แก่ ธนาคารไร้สาขา, คลาวด์ และ AI จึงยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” แต่ปรับลดราคาเป้าหมายลงเหลือ 45.70 บาท จากเดิม 50.10 บาท โดยคาดว่ากำไรหลักจะเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปี (CAGR) ช่วงปี 2567-2569 โดยมี PEG เพียง 0.9 เท่า (อิงจาก P/E ปี 2567 ที่ 22 เท่า) พร้อมมองว่าแนวโน้มกำไรหลักครึ่งแรกปี 2568 ยังเติบโตแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) หลังจากทำจุดสูงสุดใหม่ (New High) ในไตรมาส 4/2567

สำหรับแนวโน้มปี 2568-2569 แข็งแกร่งจากปัจจัยสนับสนุนคือ ความต้องการจากธนาคารที่เพิ่มขึ้น มีธนาคาร 4 แห่งเตรียมอัพเกรดหรือเปลี่ยนระบบ Core Banking ใน 1-2 ปีข้างหน้า การลงทุนธนาคารไร้สาขาจะเริ่มช่วงกลางปี 2568

Back to top button