UOB ชู 7 กลยุทธ์รับมือ “เทรดวอร์” เน้นกระจายพอร์ต-ถือสินทรัพย์มั่นคง

ธนาคารยูโอบี แนะนำ 7 แนวทาง เน้นจัดพอร์ตกระจายลงทุน พร้อมถือสินทรัพย์มั่นคง ผ่านตราสารหนี้ รับมือความผันผวนตลาดท่ามกลางสงครามการค้า


ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) หรือ UOB เปิดเผยว่า กรณีการประกาศเรียกเก็บภาษีกับนานาประเทศใน “วันปลดแอก” โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯได้ทำให้ความตึงเครียดทางการค้าทั่วโลก ทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนอย่างรุนแรง นักลงทุนตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อมาตรการที่เกินความคาดหมาย ทั้งในแง่ระดับภาษีและประเทศที่มีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงอย่างหนัก จากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าตลาดจะฟื้นตัวเล็กน้อยหลังประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศชะลอการเก็บภาษีตอบโต้เป็นเวลา 90 วัน แต่แนวโน้มในระยะสั้นยังคงไม่แน่นอน

ขณะที่ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าที่สูงที่สุดในรอบศตวรรษ ซึ่งกำหนดอัตราภาษี ขั้นต่ำร้อยละ 10 สำหรับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศที่ส่งออกมายังสหรัฐฯ เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เมษายน และตามมาด้วยภาษีตอบโต้ในอัตราที่สูงกว่า สำหรับประมาณ 60 ประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ มีผลในวันที่ 9 เมษายน

อย่างไรก็ตาม เพียง 13 ชั่วโมงหลังจากที่ภาษีตอบโต้เริ่มมีผลบังคับใช้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศพักการเก็บภาษีดังกล่าวเป็นเวลา 90 วัน ซึ่งหมายความว่าอัตราภาษีของสหรัฐฯ สำหรับสินค้าจากทุกประเทศจะอยู่ที่ร้อยละ 10 ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีข้อยกเว้นสำหรับจีน ซึ่งอัตราภาษีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 145 สำหรับสินค้านำเข้าทั่วไป และร้อยละ 120 สำหรับพัสดุขนาดเล็กจากจีน แต่การพักชำระภาษีนี้ไม่ครอบคลุมถึงภาษีเฉพาะกลุ่ม เช่น รถยนต์ เหล็ก และอลูมิเนียม

ส่วนตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงอย่างรุนแรงทันทีหลังการประกาศมาตรการภาษีใน “วันปลดแอก” เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าที่อาจยืดเยื้อ โดยมาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อลดความไม่สมดุลทางการค้า แต่กลับสร้างความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

แม้ตลาดจะฟื้นตัวระยะสั้นหลังจากการพักการเก็บภาษีตอบโต้ แต่การเก็บภาษีร้อยละ 10 สำหรับสินค้าทุกรายการยังคงเป็นการปรับขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ทำให้บริษัทต่างๆ ยังคงระมัดระวังในแผนธุรกิจ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลง ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้นยังเป็นอีกปัจจัยที่กดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ มีการตอบสนองต่อมาตรการภาษีแตกต่างกันออกไป โดยจีนตอบโต้ในทันทีด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ สูงถึงร้อยละ 125 พร้อมทั้งกำหนดข้อจำกัดทางการค้าเพิ่มเติม ส่งผลให้เมื่อรวมกับภาษีที่มีอยู่ก่อนหน้า สินค้าจากสหรัฐฯ ที่นำเข้ามายังจีนจะถูกเก็บภาษีรวมประมาณร้อยละ 140

อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ของจีนก็ส่งผลให้สหรัฐฯ เพิ่มมาตรการตอบโต้เช่นกัน ซึ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าจะเกิดสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจีนกำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นหลายประการ เช่น การส่งเสริมการบริโภคในประเทศ ให้การสนับสนุนภาคการส่งอออก และการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดหุ้นในประเทศ

ในขณะเดียวกัน ประเทศอื่นๆ เลือกที่จะใช้แนวทางการเจรจา ซึ่งคาดว่าจะเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาและซับซ้อน

โดยแนวโน้มตลาดในอนาคต  ในระยะสั้น ทิศทางของตลาดโลกจะขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ จนกว่าจะบรรลุข้อตกลงที่เป็นรูปธรรม ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะยังคงเปราะบาง จากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อที่สูงขึ้น และความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้มีการเทขายในตลาดรอบล่าสุดมีต้นเหตุหลักจากการประกาศนโยบายด้านภาษีสินค้านำเข้า หากตลาดยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่ออำนาจการเจรจาของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงท่าทีในเชิงอ่อนลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงนี้ตลาดจะยังคงผันผวน

เมื่อมองไปข้างหน้า สถานการณ์อาจเริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ เช่น การลดภาษีและการผ่อนคลายกฎระเบียบ มีผลในทางปฏิบัติ นโยบายเหล่านี้จะเป็นแรงหนุนให้สินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวได้

นายกิดอน เจอโรม เคสเซล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์เงินฝากและบริหารการลงทุนบุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย แนะนำให้ใช้กลยุทธ์การจัดพอร์ตที่ระมัดระวัง ป้องกันความเสี่ยง และมีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม เพื่อรับมือกับความผันผวนในระดับสูง

กลยุทธ์หลักที่ควรพิจารณา ได้แก่

1.ลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัว กระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ หลายภูมิภาค และหลากหลายอุตสาหกรรม

2.ให้ความสำคัญกับการลงทุนในสินทรัพย์กลุ่ม Core ใช้กลยุทธ์ถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar-Cost Averaging DCA) เพื่อสร้างการลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์คุณภาพ

3.ตราสารหนี้เพื่อความมั่นคง ตราสารหนี้ระดับลงทุนได้ (Investment Grade) จะช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงและลดความผันผวนจากตลาดหุ้น

4.หุ้นปันผล เลือกบริษัทที่ปัจจัยพื้นฐานดีและจ่ายปันผลสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบจากเงินเฟ้อและสร้างความมั่งคั่งระยะยาว

5.สินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ที่เหมาะแก่การกระจายความเสี่ยงในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน ช่วยป้องกันความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดปรับตัวลงและความเสี่ยงด้านค่าเงิน

ทั้งนี้ โอกาสการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Tactical Opportunities) คือ 6.จีน แม้เผชิญกับแรงกดดัน แต่ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นและมูลค่าหุ้นที่น่าสนใจ จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกการลงทุน

7.หุ้นกลุ่มการเงินในประเทศพัฒนาแล้ว อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลที่น่าสนใจ ทำให้เป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มองหารายได้ประจำ

ท่ามกลางภูมิทัศน์การค้าที่เปลี่ยนแปลง ความผันผวนของตลาดอาจยังอยู่ต่อไป นักลงทุนควรยึดเป้าหมายระยะยาว กระจายการลงทุน และมีวินัยในการลงทุน เพื่อปกป้องและเพิ่มพูนความมั่งคั่งในช่วงเวลาที่ท้าทาย

Back to top button