BKA เทรดวันนี้! ลุ้นวิ่งเหนือจอง ชูจุดแข็งธุรกิจ “บ้านมือสอง” กำไรโตปีละ 40%

BKA ดีเดย์เข้าเทรดตลาด mai วันแรก โชว์จุดแข็งธุรกิจซื้อ-ขาย “บ้านมือสอง” ลุ้นโกยกำไรปี 68-70 โตเฉลี่ยปีละ 40%


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 เม.ย.68) หลักทรัพย์บริษัท บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BKA เตรียมจดทะเบียนและเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ภายใต้ชื่อย่อ “BKA”

ด้าน นายพชร ธนวงศ์เกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BKA เปิดเผยว่า วันนี้บริษัทเตรียมนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรก มั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เนื่องจาก BKA มีพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งในฐานะผู้นำด้านบริการซื้อ-ขายบ้านมือสองที่ตกแต่งใหม่ ด้วยโมเดลธุรกิจ “บ้านแต่ง” (Flipping), “บ้านฝาก” (นายหน้า) และ “บ้านตัด” (ซื้อบ้านมือสองมาปรับปรุงเพื่อขาย) ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จนสามารถครองตำแหน่งผู้นำในตลาดบ้านมือสองได้อย่างมั่นคง

ทั้งนี้ สถานะทางการเงินของบริษัทอยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2567 มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 1.15 เท่า พร้อมได้รับเงินทุนจากการระดมทุนในครั้งนี้ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับฐานทุนของบริษัท และรองรับการขยายธุรกิจบ้านแต่งเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเข้าซื้อทรัพย์สินรอการขาย (NPA) จากสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่มีศักยภาพสร้างผลตอบแทนได้ดี อีกทั้งบริษัทมีแผนพัฒนาเทคโนโลยี Property Technology (Prop Tech) เพื่อสร้างแพลตฟอร์มกลางในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ โดยนำ AI และระบบ VR มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการค้นหาข้อมูลและแนะนำบ้านเสมือนจริง ซึ่งจะส่งเสริมศักยภาพการเติบโตในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ

นายพชร กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ครั้งนี้ เป็นก้าวแรกของการเป็นบริษัทมหาชนอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตระยะยาวขององค์กร ทั้งในแง่ของเงินทุนและภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ก่อตั้งบริษัทได้แสดงความมั่นใจในธุรกิจด้วยการร่วมกันทำ Lock-Up หุ้นในสัดส่วนรวม 87% ของทุนชำระแล้วก่อน IPO หรือคิดเป็น 62.14% ของทุนชำระแล้วหลัง IPO เพื่อแสดงความจริงใจว่าจะไม่มีการขายหุ้นออกมาในวันแรกของการซื้อขาย

ด้านนางนิสาภรณ์ ฤกษ์อร่าม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า หุ้น BKA มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง พร้อมทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมกว่า 12 ปี โดย BKA ถือเป็นบริษัทแรกในธุรกิจบ้านมือสองตกแต่งใหม่ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะในธุรกิจบ้านแต่งที่สร้างผลตอบแทนได้สูง ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมากตลอดช่วง IPO ที่ผ่านมา สะท้อนจากผลการดำเนินงานในช่วงปี 2565–2567 ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีรายได้รวม 1,302.92 ล้านบาท กำไรสุทธิ 21.44 ล้านบาท ปี 2566 รายได้รวม 1,313.59 ล้านบาท กำไรสุทธิ 22.27 ล้านบาท และในปี 2567 มีรายได้รวม 1,142.46 ล้านบาท กำไรสุทธิ 36.82 ล้านบาท จึงมั่นใจว่า BKA เป็นหุ้นที่มีศักยภาพเติบโตสูง และจัดเป็นหุ้นกลุ่ม Growth Stock ที่น่าจับตา

นางสาวออมสิน ศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ BKA กล่าวเสริมว่า หุ้น BKA เป็น IPO ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในภาวะเศรษฐกิจทรงตัว แต่ยอดขายบ้านมือสองยังคงเติบโต โดยเฉพาะในกลุ่มบ้านแนวราบราคาช่วง 5-7 ล้านบาท ซึ่งมีดีมานด์สูงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ โมเดลธุรกิจของ BKA ถือเป็นรายแรกที่เข้าตลาดหุ้นในลักษณะนี้ เพราะไม่ใช่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบดั้งเดิม แต่เป็นบริการปรับปรุงบ้านเพื่อขาย โดยใช้เงินประกันปรับปรุงบ้านและขายต่อ ไม่ต้องลงทุนซื้อบ้านทั้งหลัง ทำให้ได้ผลตอบแทนและมาร์จิ้นสูงกว่าธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ทั่วไป ด้วยจุดเด่นเหล่านี้ หุ้น BKA จึงได้รับความสนใจจากนักลงทุน และมีศักยภาพเติบโตสูงในอนาคต

บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองว่าจากความน่าสนใจของธุรกิจ เป็นหนึ่งในผู้นำ ธุรกิจบ้านมือสองตกแต่งใหม่พร้อมขาย โดยให้บริการปรับปรุงและขายบ้านมือสอง ซึ่งมี Portfolio ที่หลากหลาย และยังเตรียมขยาย Backlog บ้านมือสองมากขึ้นจากสถาบันการเงิน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่มีทรัพย์สินรอการขาย (NPA) รวมถึงวางแผนลงทุนธุรกิจ Property technology โดยการสร้างแพลตฟอร์มตัวกลางซื้อขายอสังหาฯ จะทำให้บริษัทฯ เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้หลากหลายขึ้น

พร้อมทั้งประเมินกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หนุนโดย GPM สูงขึ้นอยู่ที่ 11% จากปี 2566 ที่ 9.6% เป็นผลจากการขยายผลิตภัณฑ์บ้านมือสองที่ราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2568 ที่ 77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้ที่ขยายตัว เพิ่มขึ้น 47% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามกลยุทธ์การขยาย Portfolio บ้านมือสองมากขึ้นภายหลัง IPO

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) มองว่า BKA มี 3 จุดเด่นที่น่าลงทุน ได้แก่ 1. ธุรกิจบ้านมือสอง มีความได้เปรียบบ้านโครงการใหม่ ทั้งทำเลและราคาที่คุ้มค่ากว่า จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ 2.ธุรกิจบ้านแต่ง (Flipping) ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ เป็นการวางเงินประกัน ปรับปรุง และขายบ้าน โดยไม่ต้องลงทุน ซื้อบ้านทั้งหลัง ทำให้ประหยัดเงินลงทุนได้มาก แต่ให้ผลตอบแทนสูง 3.เงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปขยายธุรกิจบ้านแต่ง (Flipping) รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการซื้อขายบ้านมือสอง ซึ่งเป็นการต่อยอดทางธุรกิจในอนาคต

อีกทั้งพร้อมได้คาดการณ์กำไรสุทธิ โดยมองอัตราการเติบโต CARG อยู่ที่ 40% ช่วงปี 2568-70 โดยในปี 2568 อยู่ที่ 72 ล้านบาท ปี 2569 ที่ 96 ล้านบาท และปี 2570 ที่ 115 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการเข้าถึงบ้านที่มีโครงสร้างยังดีอยู่พร้อมปรับปรุง แต่มีราคาถูกผ่าน NPA ของธนาคารต่างๆ และที่สำคัญกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าที่ต้องการบ้านระดับราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป ยังมีแนวโน้มความต้องการสูง

นอกจากนี้บริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองว่าในปี 2568-2569 BKA มีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจสูงขึ้น จากแผนการระดมทุน ส่งผลให้คาดการณ์รายได้ใน ปี 2568 ที่ระดับ 1.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเติบโตจากการขยายธุรกิจบ้านแต่ง (Flipping) ในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทฯ เชี่ยวชาญ และในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีดีมานด์สูง โดยคาดอัตรากำไรขั้นต้น 11.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับพอร์ตมาสู่บ้านระดับราคาที่สูงขึ้น พร้อมทั้งคาดการณ์กำไรสุทธิ 75.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน EPS 0.36 บาท/หุ้น และคาดว่าจะเติบโตได้ดีต่อเนื่องในปี 2569 จากการเริ่มขยายกิจการในปี 2568

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) คาดการณ์กำไรปี 2567 ที่ 40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปี 2568-69 กำไร 74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เติบโตเฉลี่ย 54% CAGR ตามทิศทางและแผนรุกขยายพอร์ตบ้านแต่ง(Flipping) มากขึ้น ทั้งนี้เป็นผลมาจากความพร้อมด้านกระแสเงินสดภายหลัง IPO รวมถึง SG&A ต่อรายได้ลดลงจาก Economy of scale ที่ดีขึ้น รวมถึงต้นทุนการเงินที่ลดลง หลังนำเงิน IPO ไปคืนหนี้เงินกู้ สะท้อนถึงการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

Back to top button