
“ดีอี” จับมือ “ไมโครซอฟท์” เปิดโครงการ THAI Academy ยกระดับทักษะ AI คนไทย 1 ล้านราย
“กระทรวงดีอี” ร่วมกับ “ไมโครซอฟท์” เดินหน้าโครงการ THAI Academy พัฒนาทักษะ AI คนไทยกว่า 1 ล้านคน ภายในปี 68 เสริมศักยภาพแรงงานสู่อนาคตเศรษฐกิจดิจิทัล
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอีได้ร่วมมือกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และพันธมิตรภาครัฐและเอกชนกว่า 35 องค์กร เปิดตัวโครงการ “THAI Academy ขับเคลื่อนอนาคต AI ประเทศไทย” โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้กับประชาชนไทยกว่า 1 ล้านคน เพื่อสนับสนุนการก้าวเข้าสู่ยุค “AI First” อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในเวทีโลกตามแผนแม่บท AI แห่งชาติ
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ระบุว่า ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะ AI แก่ประชาชนไทยทุกกลุ่ม ผ่านแพลตฟอร์ม “AI Skills Navigator” ที่รวบรวมหลักสูตรด้าน AI กว่า 200 หลักสูตร จากไมโครซอฟท์และพันธมิตร ซึ่งออกแบบให้ครอบคลุมทุกระดับ ตั้งแต่ผู้เริ่มต้นจนถึงนักพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยมีหลักสูตรไฮไลต์ 3 ระดับ คือ “AI Basics” สำหรับปูพื้นฐานความเข้าใจ, “AI Skills for Everyone” สำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน และ “Azure AI: Zero to Hero” สำหรับนักพัฒนาที่ต้องการสร้างโซลูชัน AI บนคลาวด์
ขณะที่ความร่วมมือ โครงการ THAI Academy ยังมีการจับมือกับหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ได้แก่ สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) เพื่อพัฒนาทักษะ AI ให้กับข้าราชการกว่า 100,000 คน พร้อมจัดกิจกรรม “GovAI Hackathon” สำหรับบุคลากรภาครัฐ เปิดรับสมัครถึง 12 พฤษภาคม 2568 และร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เสริมทักษะ AI ให้แรงงานทั่วประเทศกว่า 100,000 คน อีกทั้งยังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) อบรมบุคลากรเฉพาะทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กว่า 300 คน รวมถึงนักเรียน-นักศึกษากว่า 10,000 คน
ด้านกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ด้าน AI สู่ครู 4,500 คน และนักเรียนกว่า 400,000 คน โดยผนวกหลักสูตร AI Literacy เข้าในระบบการศึกษา ร่วมกับ สสวท. และเนคเทค ขยายผลสู่ระดับชั้น ป.4 ถึง ม.6 ในขณะที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นพัฒนานักศึกษาด้านเทคโนโลยีกว่า 50,000 คน เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานสาย AI
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับองค์กรภาคธุรกิจ อาทิ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), ตลาดหลักทรัพย์ ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์, สสว., ธพว. และหอการค้าไทย เพื่อยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ SME กว่า 20,000 ราย ทั่วประเทศให้พร้อมแข่งขันในโลกยุค AI ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านปัญญาประดิษฐ์ของภูมิภาคอย่างยั่งยืน