CGSI ลดน้ำหนักลงทุนหุ้น “พลังงาน” เซ่นนโยบาย “ทรัมป์” กดดันตลาดโลก

CGSI แนะ Underweight กลุ่มพลังงานไทย รับแรงกดดันจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ-ทรัมป์ พร้อมหั่นประมาณการราคาน้ำมันและค่าการกลั่นลง


บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ปรับลดน้ำหนักการลงทุนกลุ่มน้ำมันและก๊าซของไทยเป็น “Underweight” จากเดิมที่คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของนโยบายต่างประเทศและมาตรการภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุปสงค์น้ำมันโลกในระยะถัดไป

ทั้งนี้แม้ราคาน้ำมันดิบ Brent ในไตรมาส 1/2568 จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 75.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากปัจจัยหนุนด้านอุปทานที่ตึงตัวจากการคว่ำบาตรอิหร่านและเวเนซุเอลา แต่ CGSI มองว่าการปรับขึ้นภาษีนำเข้าและการใช้มาตรการภายใต้มาตรา 232 อาจกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลง ขณะที่แผนการเพิ่มกำลังการผลิตของ OPEC+ ยังคงเป็นแรงกดดันต่อราคาในระยะกลาง

ด้านอุปทาน น้ำมันจากสหรัฐฯ และการผ่อนคลายคว่ำบาตรของทรัมป์อาจมีบทบาทน้อยกว่าที่คาด ขณะที่โรงกลั่นยังใช้น้ำมันจากแคนาดาเป็นหลัก ทั้งนี้ CGSI ได้ปรับลดประมาณการราคาน้ำมันดิบ Brent ปี 2568 และ 2569 เหลือ 65.5 และ 65.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ

สำหรับค่าการกลั่น (GRM) ฝ่ายวิเคราะห์ได้ปรับลดประมาณการค่าการกลั่นสิงคโปร์ปี 2568/2569 เหลือ 4.8/5.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิม 5.1/6.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยพิจารณาจากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลที่ลดลง และปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่สูงในหลายประเทศ ซึ่งส่งผลต่อ crack spread อย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางจะลดลงก็ตาม

ส่วนของตลาดก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) CGSI มองว่าผลกระทบค่อนข้างจำกัด จากอุปสงค์ที่ทรงตัวในเอเชียและยุโรป อีกทั้งประเทศในอาเซียนอาจนำเข้า LNG จากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพื่อลดแรงกดดันจากมาตรการภาษี ซึ่งน่าจะหนุนราคาก๊าซ Henry Hub ได้ในระยะถัดไป

โดย CGSI ปรับลดคำแนะนำหุ้นในกลุ่มโรงกลั่น โดยลดคำแนะนำ PTTGC จาก “ถือ” เป็น “ขาย” และ SPRC จาก “ซื้อ” เป็น “ถือ” ขณะที่ยังคงเลือก PTTEP เป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม (Top pick) จากงบดุลที่แข็งแกร่งและแนวโน้มเงินปันผลที่มั่นคง รวมถึงการที่ราคาก๊าซยังทรงตัว

ทั้งนี้ ฝ่ายวิเคราะห์ชี้ว่า กลุ่มพลังงานยังคงเผชิญความเสี่ยงด้าน downside หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรงกว่าคาด หรือสถานการณ์การค้าทวีความตึงเครียดมากขึ้น ในขณะที่ปัจจัยบวก (upside risk) จะมาจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

Back to top button