
TRUE เด่นกลุ่ม ICT รับผลบวกประมูลคลื่น หนุนกำไร-กระแสเงินสดโต โบรกเคาะเป้า 15 บ.
บล.กรุงศรี มองเชิงบวกต่อกลุ่ม ICT จากรอบการเติบโตของกำไรและกระแสเงินสดอิสระโตต่อเนื่อง ประเมิน กสทช. ปรับราคาประมูล 4 คลื่นรอบใหม่ ราคาตั้งต้น 17-55% ชู TRUE เด่น ให้ราคาเป้าหมาย 15 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรรมการ กสทช. มีมติให้ประมูลคลื่นความถี่ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทาน 4 คลื่น คือ ย่าน 850 MHz, 1500 MHz, 2100 MHz (เฉพาะที่จะสิ้นสุดปี 2568) และ 2300 MHz โดยใช้วิธีประมูล แบบ sequential ด้วยการประมูลพร้อมกัน และคาดว่าจะจัดประมูลได้ในวันที่ 29 มิ.ย.68
สำหรับราคาเริ่มต้นในการประมูล คลื่น 850 MHZ อยู่ที่ 7,738.23 ล้านบาท, คลื่น 1500 MHZ อยู่ที่ 1,057.49 ล้านบาท, คลื่น 2100 MHZ อยู่ที่ 4,500 ล้านบาท, คลื่น 2300 MHZ อยู่ที่ 2,596.15 ล้านบาท
อนึ่ง บอร์ด กสทช. วันนี้พิจารณา(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz, 1500 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 26 GHz เพิ่มเติม ตามที่สำนักงาน กสทช. จัดทำ
ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ยังไม่นำมาประมูล โดยมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ไปทำการศึกษา โดยอาจจะพิจารณาเรื่องในช่วงปลายปีนี้
สอดคล้องกับฝ่ายนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเกี่ยวกับความคืบหน้าการจัดการประมูลคลื่นความถี่ โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุมัติเงื่อนไขเบื้องต้นของการประมูลที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ เงื่อนไขดังกล่าวยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด และฉบับสุดท้ายจะประกาศอย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 25 เมษายน 2568
สาระสำคัญของการประมูลมีดังนี้
กำหนดวันประมูล: คาดว่าการประมูลจะจัดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน 2568 หรือประมาณสองเดือนนับจากนี้
จำนวนคลื่นความถี่ที่เข้าประมูล: ในรอบนี้จะเปิดประมูลเพียง 4 คลื่น ได้แก่ 850MHz, 1500MHz, 2100MHz และ 2300MHz จากเดิมที่กำหนดไว้ 6 คลื่น โดยคลื่น 1800MHz, 26GHz และ 3500MHz จะถูกเลื่อนออกไปศึกษาต่อเนื่องและพิจารณาสำหรับการประมูลรอบถัดไปในเดือนตุลาคม 2568
สำหรับราคาตั้งต้น มีการปรับเพิ่มราคาตั้งต้นของคลื่นทั้ง 4 ดังกล่าวในช่วง 17-55% จากร่างเดิม โดยคลื่น 2300MHz ปรับเพิ่มมากที่สุดที่ 55% รองลงมาคือ 2100MHz ที่ 33% และ 850MHz กับ 1500MHz ปรับขึ้น 17%
แม้ราคาตั้งต้นจะปรับสูงขึ้น แต่ฝ่ายวิจัยยังคงมีมุมมองเชิงบวกว่าการประมูลจะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการในระยะยาว และก่อให้เกิดกำไรและมูลค่าเพิ่ม โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจต่อผู้ประกอบการหลัก ดังนี้
หากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เข้าร่วมประมูลและชนะใบอนุญาตคลื่น 2,100MHz ที่ราคาตั้งต้น คาดว่าจะต้องใช้เงินประมาณ 13.5 พันล้านบาท คิดเป็นค่าตัดจำหน่ายประมาณ 900 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต่ำกว่าค่าที่บริษัทต้องจ่ายจากการเช่าคลื่นเดียวกันจาก NT ซึ่งอยู่ที่ราว 3.9 พันล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม หากราคาประมูลสูงถึง 60 พันล้านบาท (สูงกว่าราคาตั้งต้นประมาณ 4 เท่า) จะส่งผลให้กำไรและมูลค่าเพิ่มหายไป
หาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เข้าร่วมประมูลคลื่น 2,300MHz และชนะในราคาตั้งต้น บริษัทจะใช้เงินประมาณ 15.5 พันล้านบาท คิดเป็นค่าตัดจำหน่ายราว 1.03 พันล้านบาทต่อปี เทียบกับต้นทุนการเช่าจาก บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ที่สูงถึง 4.6 พันล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม หากราคาประมูลสูงถึง 90 พันล้านบาท (ประมาณ 5.8 เท่าของราคาตั้งต้น) จะลดทอนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการประมูลนี้
ทั้งนี้ยังคงแนะนำ “ซื้อ” สำหรับหุ้นของทั้ง ADVANC ให้ราคาเป้าหมาย 311 บาท และ TRUE ให้ราคาเป้าหมาย 15 บาท โดยมองว่าการปรับฐานราคาหุ้นในระยะสั้นอันเนื่องมาจากราคาตั้งต้นที่เพิ่มขึ้น จะเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน แม้จะมีความเสี่ยงจากการแข่งขันในการประมูล แต่การลดต้นทุนจากการถือครองคลื่นความถี่เองยังถือเป็นปัจจัยสนับสนุนในระยะยาว
อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ TRUE การเติบโตของกำไรในปี 2568 ที่ระดับ 25% ส่วน ADVANC คาดการณ์การเติบโตกำไรปี 2568 ที่ระดับ 6.6%