“คมนาคม” ผุดโมเดล “รถไฟฟ้าทะลุตึก” ตามฉงชิ่ง ดันแลนด์มาร์คกลางกรุง

พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ เดินหน้าศึกษา "รถไฟฟ้าทะลุตึก" ตามเมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน หวังแก้ปัญหาพื้นที่จำกัดในเมืองหลวง พร้อมดันสู่แลนด์มาร์คใหม่ดึงดูดนักท่องเที่ยว


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (23 เม.ย.68) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) สังกัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากกรมฯ ได้ศึกษาดูงานเส้นทางโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าของมหา นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งพบว่ามีการก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟฟ้าเป็น รถไฟวิ่งทะลุตึกบริเวณสถานี Liziba (หลี่จื้อปา) เป็นสถานีรถไฟฟ้าแบบชานชาลาด้านข้างของ Chongqing Rail Transit (CRT) สาย 2 และมีแนวเส้นทาง ที่ตั้งสถานีอยู่ภายในอาคารพาณิชย์ที่เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนด้วย

ทั้งนี้ การก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟฟ้าและสถานีภายในอาคารของฉงชิ่ง สืบเนื่องจากฉงชิ่งเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นและพื้นที่จำกัด การก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าจึงต้องหาทางประหยัดพื้นที่ให้มากที่สุด ในบางพื้นที่ ไม่สามารถเวนคืนที่ดินกว้างๆ ได้ง่ายๆ ดังนั้น การใช้แนวทางร่วมกันระหว่างอาคารและระบบขนส่งสาธารณะ จึงเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาด

อย่างไรก็ดี การพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าภายในอาคารพาณิชย์นั้น พบว่าอาคารที่รถไฟฟ้าวิ่งผ่านไม่ได้เป็นแค่ตึกทั่วไป แต่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะให้รองรับโครงสร้างรถไฟฟ้า โดยชั้นล่างของอาคารถูกดัดแปลงให้เป็นส่วนของสถานี มีระบบลดเสียงและแรงสั่นสะเทือน ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในตึกไม่ได้รับผลกระทบจากเสียงดังมากนัก ทั้งนี้เห็นได้ชัดว่า การพัฒนาสถานี Liziba สถานีที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ปัจจุบันจึงกลายเป็นแลนด์มาร์คที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ช่วยการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองและทำให้พื้นที่โดยรอบคึกคัก

นายพิเชฐ กล่าวว่า จากการศึกษาดูงานระบบรถไฟฟ้าของฉงชิ่งครั้งนี้ เล็งเห็นโอกาสในการนำมาประยุกต์ใช้กับระบบขนส่งมวลชนไทย ในอนาคต เนื่องจากกรุงเทพเป็นเมืองที่มีลักษณะคล้ายกับเมืองฉงชิ่ง ซึ่งมีประชากรหนาแน่นและพื้นที่จำกัด การก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าในอนาคตจึงต้องหาทางประหยัดพื้นที่ให้ได้มากที่สุด

ดังนั้น การใช้แนวทางการออกแบบระบบรางแบบสถานี Liziba ในเมืองฉงชิ่ง ซึ่งเป็นการออกแบบร่วมกันระหว่างอาคารและระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างลงตัว จึงเป็นรูปแบบทางเลือกที่น่าสนใจนำมาปรับใช้กับระบบชนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อีกทั้งยังเป็นการสร้างแลนมาร์คเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า โมเดลพัฒนารถไฟฟ้าทะลุตึก ก่อนหน้านี้กระทรวงฯ เคยศึกษาความเป็นไปได้ที่จะพัฒนา โดยพบว่าอาคารที่มีศักยภาพในการสร้างรถไฟทะลุตึก อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง – วงเวียนใหญ่

โดยกระทรวงคมนาคมศึกษาความเหมาะสมในแนวเส้นทางช่วงดังกล่าว มี 2 อาคารที่อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าพาดผ่าน และมีศักยภาพในการพัฒนารถไฟฟ้าทะลุตึก คือ อาคารที่ 1 สำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร ซึ่งศึกษาจะพัฒนารถไฟฟ้าทะลุผ่านบริเวณชั้น 4 และอาคารที่ 2 ห้างเมอร์รี่คิงเก่า (วงเวียนใหญ่) ศึกษาจะพัฒนารถไฟฟ้าทะลุผ่านบริเวณชั้น 6

รายงานข่าวระบุด้วย จากการศึกษาเบื้องต้นประเมินว่า อาคารที่ 2 ห้างเมอร์รี่คิงเก่า (วงเวียนใหญ่) เป็นอาคารที่มีศักยภาพสูงหากจะสร้างเป็นไฮไลต์รถไฟทะลุตึก เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับสถานีวงเวียนใหญ่ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสถานีวงเวียนใหญ่ของรถไฟชานเมืองสายสีแดง ซึ่งลักษณะของอาคารนี้จะเป็นอาคารสูง 7 ชั้น ตั้งอยู่ใกล้กับวงเวียนใหญ่ฝั่งถนนจรัญรัถ เป็นทรัพย์สินของเอกชน และปัจจุบันปิดทำการถาวรแล้ว

Back to top button