“ปิยะดิษฐ์” ซีอีโอ CIVIL นำทัพผู้ประกอบการไทยร่วมประชุม IFAWPCA ครั้งที่ 47

“ปิยะดิษฐ์” ซีอีโอ CIVIL เข้าร่วมประชุมสมาพันธ์ผู้ประกอบการก่อสร้างภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกฝั่งตะวันตก ครั้งที่ 47 ณ ประเทศสิงคโปร์ โชว์ศักยภาพโครงการก่อสร้างไทยสู่สายตานานาชาติ


นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ผู้นำบริษัทก่อสร้างครบวงจรชั้นนำของไทย และดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้าร่วมประชุมสมาพันธ์ผู้ประกอบการก่อสร้างภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกฝั่งตะวันตก (IFAWPCA) ครั้งที่ 47 ณ Sands Expo & Convention Centre ประเทศสิงคโปร์ ในฐานะ Chief Delegate ตัวแทนจากประเทศไทย

โดยการประชุม IFAWPCA มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี และความร่วมมือในระดับนานาชาติระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนของภาคก่อสร้างในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ทั้งนี้ ในฐานะ Chief Delegate นายปิยะดิษฐ์ได้ร่วมถ่ายทอดภาพรวมความก้าวหน้าและแนวโน้มการลงทุนด้านงานก่อสร้างของประเทศไทย อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีจากพันธมิตรระดับโลก อาทิ Google และ AWS ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความน่าสนใจของโครงการไทยในสายตาต่างชาติ

สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างนับเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจหลักที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยสัดส่วนประมาณ 8–9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) การยกระดับศักยภาพของภาคก่อสร้างให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเติบโตอย่างยั่งยืน จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายสู่ตลาดก่อสร้างในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอีกด้วย

โดยจากการหารือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับประเทศสมาชิก พบว่ามีประเด็นสำคัญที่ควรผลักดันอย่างเร่งด่วน คือ ความจำเป็นในการจัดตั้งองค์กรตามกฎหมาย ซึ่งดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแล พัฒนา และส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ เพื่อก้าวสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลอย่างยั่งยืน โดยมีบทบาทและหน้าที่หลัก 6 ด้าน ได้แก่

1.การขึ้นทะเบียนและรับรองมาตรฐาน โดยขึ้นทะเบียนผู้รับเหมา บุคลากรในงานก่อสร้าง หัวหน้าควบคุมงาน ช่างฝีมือ รวมถึงวัสดุก่อสร้างทั้งหมด พร้อมรับรองและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพและผู้รับเหมาเพื่อสร้างมาตรฐานในอุตสาหกรรม

2.การพัฒนาอุตสาหกรรม โดยจัดทำและขับเคลื่อนแผนพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการนำแนวปฏิบัติที่ดี เทคโนโลยีใหม่ และการเพิ่มผลิตภาพมาปรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม

3.มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย กำหนดและบังคับใช้มาตรฐานด้านคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (QSHE) พัฒนาและดูแลมาตรฐานอุตสาหกรรมก่อสร้าง (CIS) เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน

4.การพัฒนาทักษะและศักยภาพบุคลากร จัดอบรมและพัฒนาทักษะของแรงงานและบุคลากรในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาบุคลากรคุณภาพที่มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

5.การวิจัยและให้คำแนะนำเชิงนโยบาย โดยดำเนินการวิจัยและศึกษาข้อมูลอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ พร้อมทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ภาครัฐในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และแนวโน้มในอนาคต

6.ความยั่งยืนและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ โดยส่งเสริมการนำแนวคิดก่อสร้างสีเขียว วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในงานก่อสร้าง และขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในงานก่อสร้าง เช่น Building Information Modeling (BIM), Industrialized Building System (IBS) และนวัตกรรมอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

โดยมีหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จที่ได้ดำเนินการแล้วในประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่พร้อมจะเข้ามาช่วยแนะนำ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกได้จริง

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม IFAWPCA ครั้งที่ 48 ในเดือนพฤศจิกายน 2569 โดยจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมจากประเทศสมาชิกกว่า 600 คน นับเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย พร้อมเปิดเวทีให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และนวัตกรรมจากโครงการก่อสร้างที่หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค เสริมสร้างเครือข่ายธุรกิจ และร่วมกันยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมก่อสร้างในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เติบโตไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน

Back to top button