
“รัฐบาล” เร่งคุมเข้ม “สินค้านำเข้า-นอมินี” สร้างมาตรฐานการค้า เสริมข้อเจรจาสหรัฐ
รองนายกฯ เปิดแผนคุมเข้มสินค้านำเข้า-นอมินี ขับเคลื่อนมาตรการระยะสั้น-ระยะยาว หวังยกระดับมาตรฐานการค้าไทย พร้อมตอบโจทย์ข้อกังวลจากสหรัฐฯ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ร่วมแถลงผลการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
นายพิชัย เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ติดตามข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการควบคุมการทะลักเข้ามาของสินค้าต่างประเทศ ทั้งที่มีคุณภาพและด้อยคุณภาพ พร้อมเน้นย้ำการแก้ปัญหาธุรกิจนอมินีที่แฝงตัวในภาคบริการ โดยมีแผนดำเนินการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและมาตรฐานการค้าไทย
สำหรับระยะสั้น รัฐบาลเตรียมบังคับใช้มาตรการคุมเข้มการตรวจสอบสินค้านำเข้า ทั้งที่จำหน่ายในประเทศและส่งออก โดยมุ่งเน้นควบคุมสินค้าคุณภาพต่ำซึ่งมักมีราคาถูกผิดปกติ พร้อมประสานองค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อตรวจสอบและระงับการจำหน่ายทันทีหากไม่ผ่านมาตรฐาน นอกจากนี้ สินค้าที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Temu จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยอย่างเคร่งครัด โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต้องจดทะเบียนในประเทศ และรับผิดชอบการควบคุมสินค้าที่จำหน่ายในระบบ
ด้านธุรกิจนอมินี รัฐบาลเร่งตรวจสอบโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทที่มีชาวต่างชาติถือหุ้นต่ำกว่า 50% โดยเฉพาะบริษัทที่ถือครองที่ดิน เพื่อป้องกันการแอบแฝง ถือเป็นการเสริมความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และจะมีการตรวจสอบความถูกต้องของการจดทะเบียนบริษัทเพิ่มเติม
สำหรับระยะกลางถึงระยะยาว รัฐบาลเตรียมทบทวนและปรับปรุงกฎหมายการค้าระหว่างประเทศให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดประเภทสินค้าและบริการที่ควรควบคุมอย่างชัดเจน เพื่อแสดงความโปร่งใสและยกระดับความเชื่อมั่นจากนานาชาติ
ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงจับตาอย่างใกล้ชิดต่อกรณีสินค้าสวมสิทธิที่ผ่านประเทศไทยไปยังประเทศที่สาม ซึ่งสหรัฐฯ มีการจัดทำ Watchlist สำหรับสินค้า 49 ชนิด และขอให้ไทยตรวจสอบเพิ่มเติมอีก 16 ชนิด โดยรัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทาง เช่น โรงงานผลิต กระบวนการผลิต และการออกใบรับรองโดยกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการส่งออก
ขณะที่ส่วนของการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ รองนายกรัฐมนตรีระบุว่า ไทยต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเจรจา เพื่อให้ได้ข้อมูลและเงื่อนไขการค้าจากการหารือของประเทศใหญ่ก่อน ซึ่งจะทำให้การเจรจาของไทยมีความพร้อมมากขึ้น นอกจากนี้ยังเน้นว่าการเจรจาต้องคำนึงถึงเงื่อนไขทางการค้าและการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน เช่น อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
สำหรับแผนการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้น นายพิชัยระบุว่ายังเร็วเกินไปที่จะเรียกว่าเป็นแผนกู้เงิน เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้รัฐบาลจะพิจารณาโครงการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงประสิทธิภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
ด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสริมว่า การดำเนินคดีกับสินค้าด้อยคุณภาพมีมากกว่า 29,000 คดี และการปราบปรามธุรกิจนอมินีได้ดำเนินการไปแล้วกับ 852 บริษัท คิดเป็นทุนจดทะเบียนรวมกว่า 15,188 ล้านบาท พร้อมยืนยันเดินหน้าตรวจสอบเชิงลึกกับบริษัทที่มีชาวต่างชาติถือหุ้นต่อไป
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า การควบคุมการนำเข้าสินค้าจะดำเนินการอย่างเท่าเทียมและเข้มงวดสำหรับสินค้าทุกประเทศ โดยเน้นที่คุณภาพชีวิตผู้บริโภคและการปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมและข้อกำหนดด้านอาหารและยา รวมถึงกำกับฉลากสินค้าเป็นภาษาไทยอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศอยู่ระหว่างดำเนินมาตรการ “เซตซีโร่” การออกใบรับรองสินค้าเพื่อเสริมความโปร่งใสตั้งแต่กระบวนการผลิต พร้อมหารือกับตัวแทนศุลกากรสหรัฐฯ เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบสอดคล้องกับข้อกำหนดของสหรัฐฯ และลดข้อกังวลในประเด็นสินค้าสวมสิทธิอย่างมีประสิทธิภาพ