
IMF ห่วง “เศรษฐกิจไทย” ถูกบีบภาษีนำเข้าสหรัฐ แนะเร่งขยายการค้าในอาเซียน
IMF เตือนเศรษฐกิจไทยเสี่ยงจากนโยบายภาษีสหรัฐ หลังส่งออกไปสหรัฐสูงถึง 18% แนะเพิ่มการค้าภายในอาเซียน ลดพึ่งพาตลาดตะวันตก พร้อมเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศ
นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้แสดงความเป็นห่วงต่อเศรษฐกิจเอเชีย และอาเซียน โดยนโยบายภาษีใหม่ของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการแถลงข่าว วันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา ว่าประเทศในเอเชียกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากการเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกสูง
นางคริสตาลินา กล่าวว่า ประเทศในเอเชียอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก หลังจากมีการประกาศนโยบายภาษีใหม่ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในหลายประเทศ ในขณะเดียวกันภูมิภาคเอเชียได้สร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีการเติบโตที่มั่นคง ควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้อย่างรอบคอบ ซึ่งมีนโยบายการคลังที่เป็นประโยชน์
อีกทั้ง ยังแนะนำให้ประเทศในเอเชียที่มีพื้นที่ทางนโยบาย (policy space) ใช้เครื่องมือนโยบายการเงิน และการคลังอย่างระมัดระวัง เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น โดยปัจจุบันประเทศในเอเชียมีการค้าระหว่างกันเพียงร้อยละ 21 และเธอเชื่อว่าการค้าในระดับภูมิภาคสามารถชดเชยการลดลงของอัตราการเติบโตของการค้าโลกได้
ด้าน นายคริชนา ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิกของ IMF ตอบคำถามจากผู้สื่อข่าวของกรุงเทพธุรกิจว่า ไทยได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากภาษีที่สหรัฐ กำหนด เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐ คิดเป็น 18% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่กำลังชะลอตัวอยู่แล้ว ทำให้แรงกระแทกจากภายนอกนี้ส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้น
ทาง IMF แนะนำให้ไทย และกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มการซื้อขายระหว่างกันมากขึ้น โดยปัจจุบันการค้าภายในภูมิภาคมีเพียง 20% เท่านั้น การเพิ่มการค้าภายในภูมิภาคจะช่วยให้ประเทศสมาชิกกระจายตลาดส่งออกได้มากขึ้น โดยภูมิภาคอาเซียนถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลกหากพิจารณาจาก GDP
ด้าน นายโทมัส เฮลบลิง รองผู้อำนวยการแผนกเอเชียแปซิฟิกของ IMF ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้ามาจาก 2 ประการ คือ การฟื้นตัวหลังโควิดที่ล่าช้า โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว เช่น ประชากรสูงวัย การเติบโตของผลิตภาพที่ล่าช้า
อย่างไรก็ตามทาง IMF แนะนำให้ไทยเปิดตลาด พัฒนาทักษะแรงงาน ยกระดับการลงทุนสาธารณะเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน รวมไปถึงจัดสรรทรัพยากรใหม่ไปสู่ภาคส่วนที่มีศักยภาพ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศตะวันตกที่มากเกินไป