“มูดีส์” ชี้ไทยมีนโยบาย “เศรษฐกิจ-ทุนสำรอง“ ระดับดีพอใช้! คงเครดิต ลดมุมมองเป็น Negative

“มูดีส์” คงอันดับเครดิต Baa1 ประเทศไทย สะท้อนนโยบายเศรษฐกิจ-ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศแข็งแกร่ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 เม.ย. 68) “มูดี้ส์ เรทติ้งส์” บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ประกาศปรับแนวโน้มเครดิตประเทศไทยเป็น “เชิงลบ” จากเดิม “มีเสถียรภาพ” โดยยังคงอันดับเครดิต Baa1 และคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทยที่ระดับ P-2

สำหรับการปรับแนวโน้มเป็น “เชิงลบ” นั้น “มูดีส์”  ประเมินว่าเศรษฐกิจและสถานะการคลังของประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะอ่อนแอลงในอนาคต จากมาตรการภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้าโลก และการเติบโตของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะกระทบต่อไทย

นอกจากนี้ความไม่แน่นอนหลังจากช่วงผ่อนผัน 90 วัน สหรัฐฯจะมีการเก็บภาษีเพิ่มเติมต่อไทยและประเทศอื่น ๆ หรือไม่ ความไม่แน่นอนนี้จะซ้ำเติมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งยังอ่อนแอหลังโควิด-19 และอาจลดศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม “มูดีส์” ยังคงอันดับเครดิต Baa1 เพราะโครงสร้างสถาบันของไทยยังคงแข็งแกร่ง และมีนโยบายการเงินการคลังที่พอใช้ได้ แม้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ และประเทศไทยยังมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศแข็งแกร่ง

ส่วนเพดานอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินต่างประเทศของไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ Aa3 และ A1 ตามลำดับ ความแตกต่างระหว่างเพดานอันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ 4 อันดับ สะท้อนถึงความสมดุลระหว่างดุลยภาพภายนอกที่แข็งแกร่งของประเทศกับสถาบันที่มีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับฐานเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูงของรัฐบาลและความเสี่ยงทางการเมืองที่อยู่ในระดับปานกลาง

โดยช่องว่างระหว่างเพดานอัตราแลกเปลี่ยนกับเพดานอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจะพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ของไทยในการควบคุมเงินทุน แม้ว่าภาระหนี้ต่างประเทศและประสิทธิภาพด้านนโยบายที่สูงจะลดความเสี่ยงจากการโอนและการจำกัดการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

ทั้งนี้ หากพิจารณาการจัดอันดับของ “มูดีส์” จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เริ่มจาก 1. อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ หรือที่มักจะเรียกกันว่า Sovereign Credit Rating ที่จะบอกถึงความสามารถในการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยที่ครบกำหนด อันดับเครดิตจะถูกกำหนดจากปัจจัยสำคัญ ๆ หลายส่วน โดย ณ ขณะนี้ “มูดีส์” ยังคงอันดับของไทยไว้ที่ Baa1 ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทยยังไม่มีเหตุใดที่น่ากังวลจนนำไปสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

2.แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือ หรือที่เรียกกันว่า Outlook ซึ่งจะเป็นสัญญาณที่ใช้บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในอนาคตของประเทศ ในอีก 6-12 เดือนข้างหน้าเป็นอย่างน้อย หากพิจารณาสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ถือว่ายังมีความไม่แน่นอนสูง หรือเป็นไปตามที่สถาบันจัดอันดับกังวลไว้ ก็อาจนำไปสู่การปรับลด Sovereign Credit Rating ได้ อย่างไรก็ตาม การปรับ Outlook ของสถาบันจัดอันดับนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของประเทศนั้น ๆ

ดังนี้หากพิจารณาการประเมินของ “มูดีส์”  ที่ออกมาล่าสุดจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง จึงเป็นที่มาที่มีการคงเครดิต Baa1 แต่อาจมีปัจจัยอื่นๆที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางภาษีของสหรัฐ และการเจรจาที่จะเกิดขึ้นระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งเรื่องที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นความไม่แน่นอนที่คาดเดาไม่ได้ จึงเป็นเรื่องปกติที่สถาบันประเมินเครดิตจะมองแนวโน้มของไทยว่าอยู่ในความเสี่ยง และจำเป็นต้องปรับลดแนวโน้มเครดิตประเทศลง แต่หากสถานการณ์ดีขึ้น หรือมีปัจจัยเชิงบวกเข้ามา ก็อาจส่งผลให้การประเมินแนวโน้มเครดิตประเทศมีมุมมองเชิงบวกได้อีกครั้ง

Back to top button