จับตา! ที่ปรึกษากฎหมาย กสทช. เคาะ “พิรงรอง” มีสิทธิโหวตวาระเกี่ยวกับ “ทรู คอร์ป” หรือไม่

วันที่ 1 พ.ค.นี้ อนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กสทช. ซึ่งรวมกูรูที่มีเชื่อเสียงในวงการกฎหมายจำนวน 14 คน เตรียมพิจารณาประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวกับ “ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต” ว่ายังมีสถานะสามารถพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับ “ทรู คอร์ป” ได้หรือไม่ หลังศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำพิพากษาในคดี “ทรูไอดี”ก่อนหน้านี้


แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 1 พ.ค. 2568 จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ซึ่งจะมีการพิจารณาระเบียบวาระเกี่ยวกับการคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ว่าจะสามารถร่วมทำหน้าที่กรรมการร่วมพิจารณาระเบียบวาระเกี่ยวกับบริษัทในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น ได้หรือไม่

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นทรูไอดี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อปี 2566 โดยกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีที่สำนักงาน กสทช. มีการออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จำนวน 127 ราย ซึ่งอาจทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย และอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่าง ๆ ที่โจทก์นำไปออกอากาศ ต่อมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดี เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2567 และเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2568 ได้มีคำพิพากษาสั่งจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง  ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดี และได้ปฏิบัติหน้าที่กสทช.มาอย่างต่อเนื่อง

หลังจากศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้อง บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันยื่นคำร้องคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ ส่งไปยังศาลอาญาคดีทุจริตฯเพื่อให้ศาลสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ กสทช. และประธานอนุกรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ ของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา แต่เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว และในวันเดียวกัน ทั้งสองบริษัท ยังได้ส่งหนังสือคัดค้านไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่พิจารณาวาระใดๆที่เกี่ยวกับกลุ่มบริษัททรูฯ มาถึง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง และประธาน กสทช. ที่สำนักงาน กสทช.ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อได้มีการนำหนังสือดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช. พบว่ามีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจของทั้งสองบริษัท บอร์ด กสทช.เสียงข้างมากจึงมีมติไม่รับพิจารณาหนังสือคัดค้านฉบับดังกล่าว และหนังสือคัดค้านยังขาดความชัดเจนว่า เกี่ยวกับสิทธิของผู้คัดค้านในการคัดค้านเรื่องที่จะมีการพิจารณาทางปกครองในวาระการพิจารณา เนื่องจากเนื้อหาของคำคัดค้านเป็นการกล่าวในลักษณะคาดการณ์ล่วงหน้าแบบเหมารวม เป็นเหตุให้ขาดความชัดเจนในการพิจารณาเหตุแห่งการคัดค้านตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่โดยปกติจะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป

ภายหลังศาลมีคำพิพากษา แม้ว่าคดีจะยังไม่สิ้นสุด แต่ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 5/2568 (ต่อเนื่อง) วันที่ 19 และ 21 ก.พ. 2568 เมื่อถึงการพิจารณาระเบียบวาระที่ 5.2 สัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมระหว่าง การไฟฟ้านครหลวง กับบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัดฯ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรองฯ จะมีสิทธิร่วมพิจารณาระเบียบวาระเกี่ยวกับบริษัทในเครือทรูหรือไม่ ซึ่งตามข้อมูลจากแหล่งข่าวในเรื่องนี้ให้ข้อมูลว่า ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรองให้เหตุผลว่า กสทช. ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 11/2567 ไม่รับพิจารณาหนังสือคัดค้านลงวันที่ 2 เมษายน 2567 ไปแล้ว ดังนั้น หนังสือคัดค้านดังกล่าวจึงเป็นที่ยุติ และตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 ประธาน กสทช. จะหยิบยกประเด็นแห่งการคัดค้านขึ้นมาเองไม่ได้ และชี้แจงว่าตนไม่มีสภาพร้ายแรงตามมาตรา 16 (1) แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เนื่องจากขณะนี้คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด อีกทั้งผู้พิพาทในคดีกับผู้รับอนุญาตที่อยู่ในระเบียบวาระการพิจารณาเป็นคนละนิติบุคคลกัน ประกอบกับวาระที่พิจารณาไม่เกี่ยวกับประเด็นที่พิพาทในคำพิพากษา ไม่ได้ส่งผลต่อรูปคดี แต่เป็นการทำหน้าที่ตามกฎหมายในการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตจากกสทช.

ในวันดังกล่าว ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี สำนักงานกสทช.แจ้งต่อที่ประชุมว่า เนื่องจาก กสทช. พิรงรองได้ชี้แจงไปแล้วว่าตนไม่มีสภาพความไม่เป็นกลางอย่างร้ายแรงด้วยเหตุผลดังกล่าว ดังนั้น จึงยังไม่มีกรณีที่จะต้องพิจารณาตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ส่วน กสทช. ด้านกฎหมาย ได้ให้ความเห็นว่า กสทช. พิรงรองต้องออกจากห้องประชุม เพื่อให้กรรมการที่เหลือลงมติว่า กสทช. พิรงรองมีสภาพร้ายแรงหรือไม่ ขณะที่กรรมการอีกสองคนไม่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการลงมติดังกล่าว ท้ายที่สุด ที่ประชุม กสทช. จึงประนีประนอมกันโดยมีมติให้หารือต่ออนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของกสทช.ซึ่งมีกำหนดประชุมพิจารณาวาระนี้ในวันพฤหัสที่ 1 พ.ค. 2568

ทั้งนี้ อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธาน กสทช. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์สูงมาก ประกอบด้วย

1.ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ประธานอนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช. พล.อ.ท. ดร. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ)

2.ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมการคณะกรรมการกฤษฎีกา อดีตศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.)​

3.ศาสตราจารย์พิเศษ เข็มชัย ชุติวงศ์​ อดีตอัยการสูงสุด อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดยประธาน กสทช.)

4.ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ​อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช. รศ. ดร. ศุภัช ศุภชลาศัย)

5.ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน และอดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ​อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช.ศุภัช)

6.ศาสตราจารย์ ดร.จตุรนต์ ถิระวัฒน์​ ราชบัณฑิต ประเภทวิชานิติศาสตร์ สาขาวิชากฎหมายระหว่างประเทศ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ปัจจุบัน เป็นผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช. รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์)

7.พลเอก เชิดชัย อังศุสิงห์​ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช. พล.ต.อ. ดร. ณัฐธร เพราะสุนทร)

8.พลตำรวจตรี ปิยะวัฒน์ บุญยืนอนนต์ ​รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร เพิ่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการทำความตกลงทางกาค้าเสรี สภาผู้แทนราษฎร อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช.ณัฐธร)

9.พันตำรวจเอก ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช. ศ.กิตติคุณ ดร. พิรงรอง)

10.นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช.สมภพ)

11.นายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด ​อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช.พิรงรอง)

12.นายวีรพล ปานะบุตร อดีตรองอัยการสูงสุด ​อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช.ต่อพงศ์ เสลานนท์)

13.นายเพิ่มสิน วิชิตนาค รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอัยการสูงสุด ​อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช.ต่อพงศ์)

14.นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์​ ปลัดกระทรวงยุติธรรม อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช.ธนพันธุ์)

จึงต้องจับตาดูกันต่อไปว่านักกฎหมายระดับกูรูเหล่านี้จะมีการพิจารณาว่าอย่างไร เพราะประเด็นเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในกรณีของกสทช.พิรงรอง เป็นที่ถูกจับตากันอย่างกว้างขวางในสังคม

หากอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช.พิจารณาว่าบริษัทใดๆในกลุ่มบริษัททรูคือคู่กรณีกับกสทช.พิรงรอง ทั้งๆที่ผู้ฟ้องคือ บริษัททรูดิจิทัล เป็นคนละนิติบุคคลกันและไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตในการกำกับดูแลของกสทช. ก็จะเปิดช่องให้มีการลงมติในกรรมการ 7 คนว่าจะให้ กสทช.พิรงรองอยู่ร่วมประชุมต่อได้หรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องได้เสียงมากกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมด และด้วยความแตกแยกในบอร์ดกสทช. ในปัจจุบันก็น่าจะเป็นเรื่องที่ยากมากทีเดียว

Back to top button