โบรกฯกระหน่ำเชียร์ “ซื้อ” TCAPชูกำไร H2 อู้ฟู้ เด่นสุดกลุ่มเช่าซื้อ
ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้สำรวจบทวิเคราะห์ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ที่นักวิเคราะห์ฺ 9 สำนักต่างแนะนำซื้อ หลังมองแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปีนี้โดดเด่นกว่าครึ่งปีแรก หลังค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมีแนวโน้มลดลง พร้อมชู TCAP เด่นสุดในกลุ่มธนาคารเช่าซื้อ
ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้สำรวจบทวิเคราะห์ของบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ที่นักวิเคราะห์ฺ 9 สำนักต่างแนะนำซื้อ ชี้แนวโน้มผลการดำเนินงานครึ่งหลังปีนี้โดดเด่น ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมีแนวโน้มลดลง พร้อมชู TCAP เด่นสุดในกลุ่มธนาคารเช่าซื้อ
ที่สำคัญราคาหุ้นยังถูก โดยเห็นได้จากค่า P/E อยู่ที่ 8.59 เท่า ซึ่งต่ำกว่า P/E กลุ่มธนาคาร ซึ่งอยู่ที่ 11.17 เท่า อีกทั้งราคาหุ้นมีเป้าหมายสูงสุดถึง 52.50 บาท และมีอัพไซด์มากถึง 33% ตรงนี้เชื่อว่าจะเป็นแรงหนุนให้ราคาหุ้นกลับมาน่าสนใจ และมีโอกาสขึ้นแรงได้อีกครั้ง
นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” TCAP ราคาเป้าหมาย 45 บาท มองแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของ TCAP จะดีขึ้น จากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง หลังจากที่ในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทได้ตั้งสำรองพิเศษ และการเร่งลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อเพิ่มอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 125% ซึ่งเป็นระดับที่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงได้
รวมทั้งยังคาดการณ์กำไรสุทธิของบริษัทในปี 59 อยู่ที่ 5.9 พันล้านบาท หรือเติบโต 8.8% จากปีก่อน และปี 60 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6.6 พันล้านบาท หรือเติบโต 11.3% จากปีนี้ ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯที่ลดลง ขณะที่การปล่อยสินเชื่อของบริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทหันไปให้สินเชื่อประเภทอื่นเพื่อชดเชยสินเชื่อรถยนต์ใหม่ คือ การเน้นปล่อยสินเชื่อรถยนต์มือสองที่เริ่มมีการฟื้นตัวขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยให้สินเชื่อของบริษัทในปีนี้หดตัวลงเพียงเล็กน้อย
ขณะเดียวกันนางสาวสุนันทา วสะภิญโญกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” TCAP ราคาเป้าหมาย 48 บาท มองแนวโน้มกำไรของ TCAP ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกราว 8-10% จากการตั้งสำรองค่าเผื้อหนี้สงสัยจะสูญที่จะลดลงและกลับสู่ระดับปกติที่ 0.65-0.7% ของสินเชื่อรวม ซึ่งการที่ตั้งสำรองฯลดลงนั้นเป็นผลมาจากการที่ Coverage ratio ของบริษัทสามาถทำได้ตามเป้าหมายแล้วที่ 125% พร้อมทั้งคาดว่ากำไรสุทธิของบริษัทในไตรมาส 3/59 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท เติบโต 2.3% จากไตรมาส 2/59 และเติบโต 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิในปีนี้ลดลง 7.6% มาอยู่ที่ 5.8 พันล้านบาท แต่ยังเติบโต 7.9% จากปีก่อน เพราะค่าใช้จ่ายจากการลงทุนระบบเทคโนโลยีและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรก ส่งผลให้บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียมจะทำได้แค่ทรงตัวจากปีก่อน จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 5% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยสินเชื่อของบริษัทที่จะติดลบ 3% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าขยายตัวได้ 1% เนื่องจากยังไม่เห็นการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์ใหม่
นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” TCAP ราคาเป้าหมาย 52.50 บาท บริษัทได้ปรับประมาณการกำไรของ TCAP ในปี 59-60 เพิ่มขึ้นจากเดิม 7% และ 9% มาที่ระดับ 6.14 พันล้านบาท และ 6.59 พันล้านบาทตามลำดับ จากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯที่ลดลงในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองในปีนี้จะลดลงเหลือ 6 พันล้านบาท จากเดิมที่ 6.5 พันล้านบาท และในปีหน้าคาดว่าจะลดลงเหลือ 4.5 พันล้านบาท จากเดิมที่ 5.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจาก Coverage ratio ที่อยู่ในระดับเป้าหมาย 125% จากการตั้งสำรองพิเศษในช่วงครึ่งปีแรก และแนวโน้ม NPL ที่ปรับตัวลดลงมาต่อเนื่องถึง 8 ไตรมาสติดต่อกัน
สำหรับการขยายตัวของสินเชื่อของบริษัทนั้นยังคงมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง และยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้คาดการณ์การว่าสินเชื่อในปี 59 จะทรงตัว และในปี 60 คาดว่าจะเห็นการขยายตัวของสินเชื่อเพียง 1%
โดยมองว่าด้วยความแข็งแกร่งของคุณภาพสินเชื่อและอัตราภาษีที่ต่ำ จะช่วยให้กำไรของ TCAP เติบโตได้ดี แม้ไม่เห็นรายได้รวมที่เด่นปรับประมาณการปี 60 ขึ้น 7% ตามความจำเป็นในการตั้งสำรองที่ลดลง แต่ได้ประโยชน์เต็มที่จากอัตราภาษีที่ต่ำ
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายสำรองจะลดลงมากในปี 60 ตั้งแต่ได้ผลประโยชน์ทางภาษีเมื่อไตรมาส2/59 TCAP ก็นำมาตั้งสำรองพิเศษเรื่อยมา จนสามารถเพิ่ม Coverage ratio จาก 88% ขึ้นเป็น 125% ขณะเดียวกันสำรองปกติของธุรกิจก็ลดลงมาก ตามคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้น ผู้บริหารกล่าวว่ายังมีการตั้งสำรองพิเศษเพิ่มอีกใน 2H59 ตามหลักระมัดระวัง แต่น่าจะแทบไม่มีในปี 60 ทำให้ TCAP จะได้ประโยชน์จากอัตราภาษีที่ต่ำ เต็มที่มากขึ้นในปีหน้า
รวมทั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” TCAP ราคาเป้าหมาย 47 บาท มองกำไรไตรมาส 3/59 ยังเด่น ที่ 1,543 ล้านบาท เติบโต 5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและ 14% จากปีก่อนแม้สินเชื่อจะยังหดตัวอยู่ แต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา ด้านแนวโน้มตลาดทุนในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาค่อนข้างดี ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมปรับตัวดีขึ้น สำหรับ NPL ยังเป็นขาลง ขณะที่ NPL Coverage Ratio ที่ใกล้กับเป้าหมายแล้วทำให้ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญต่ำลงได้ ทั้งนี้เราคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของสินเชื่อที่ชัดเจนขึ้นในปีหน้า หลังมีรถยนต์บางส่วนที่ครบกำหนดชำระจากนโยบายรถคันแรก เรายังคงแนะนำ “ซื้อ” มองเด่นสุดในกลุ่มธนาคารเช่าซื้อ ให้ราคาเป้าหมายที่ 47 บาท
รอการฟื้นตัวของสินเชื่อปีหน้าแนวโน้มปี 60 คาดว่ายังเห็นกำไรเติบโตได้ โดยมีแรงหนุนมาจาก NPL Coverage Ratio ที่อยู่ในระดับสูงแล้ว ทำให้ความจำเป็นที่ต้องตั้งสำรองพิเศษมีน้อยลง ขณะที่ผลประโยชน์ทางภาษีที่เหลืออยู่น่าจะหนุนให้ภาษีจ่ายอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้เรายังคาดว่าสินเชื่อที่หดตัวอยู่นั้น จะเริ่มกลับมาเติบโตได้ในปีหน้าเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากเห็นแนวโน้มยอดขายรถยนต์ที่ดีขึ้น บวกกับปัญหาคุณภาพหนี้ของสินเชื่อรถยนต์มือสองเริ่มคลี่คลาย ทำให้ธนาคารกลับมาปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้ได้ ในอีกด้านหนึ่งยอดชำระคืนสินเชื่อในปีหน้าคาดว่าจะลดลง หลังมีรถบางส่วนที่จะครบกำหนดชำระจากนโยบายรถคันแรก
อีกทั้งมอง TCAP เด่นสุดในกลุ่มเช่าซื้อทั้งในด้านพื้นฐาน โดยเฉพาะ NPL Coverage Ratio ที่ปัจจุบันสูงสุดในกลุ่มธนาคารเช่าซื้อด้วยกันแล้ว และ Valuation ยังไม่แพง ซื้อขายกันที่ Forward PBV เพียง 0.9 เท่า เราปรับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 60 ที่ 47 บาท อิง PBV 1.08 เท่า ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ”
ด้านราคาหุ้นปิดตลาดเมื่อวาน (10 ต.ค.) ราคาอยู่ที่ 39.50 บาท ลบ 1.25 บาท หรือ 3.07% มูลค่าซื้อขาย 225.71 ล้านบาท