คัด 15 หุ้นพลังโชว์งบฯ Q3 ผลงานผงาดชู 2 ธีมเด่นพลิกมีกำไร-เติบโตเกิน100%
คัด 15 หุ้นพลังโชว์งบฯ Q3 ผลงานผงาด ชู 2 ธีมเด่นพลิกมีกำไร-เติบโตเกิน 100%
กลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภคมานำเสนอ ถือเป็นกลุ่มหุ้นที่มีผลต่อตลาดหุ้นไทยและระบบเศรษฐกิจอย่างมากหากผลการดำเนินงานออกมาไม่สดใส ยิ่งราคาน้ำมันดิบเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ที่มีผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท โดยราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงแรกของไตรมาส 3 ปี 59 ได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากปลายไตรมาสก่อนโดยได้รับแรงกดดันจากกำลังผลิตของกลุ่มโอเปกที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเหตุการณ์ไฟไหม้ไฟไหมในประเทศแคนาดาในช่วงไตรมาสก่อนได้คลี่คลายทำให้การผลิตน้ำมันจากแหล่งทรายน้ำมัน (Oil Sands) กลับสู่สภาวะปกติใน
ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันในอนาคตอาจได้รับผลกระทบจากการที่สหราชอาณาจักรได้มีการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลงจนแตะระดับกว่า 40 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรลในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ก่อนที่ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของไตรมาส
โดยมีปัจจัยบวกจากระดับน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องรวมถึงข่าวความพยายามของกลุ่มโอเปกที่จะลดกําลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบโลก ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มขึ้นจนปิดที่ระดับ 45 ดอลลาร์สรอ. ต่อบาร์เเรลในปลายเดือนกันยายน
โดยราคาเฉลี่ยน้ำมันมันดิบดูไบในไตรมาส 3 ปี 59 อยู่ที่ 43.17 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบในไตรมาสก่อนหน้าที่ 43.18 ดอลลาร์สรอ. ต่อบาร์เรล
ล่าสุดตลาดยังกังวลว่ากลุ่มโอเปคตกลงกันที่จะปรับลดกำลังการผลิตมาอยู่ที่ระดับ 32.5 – 33.0 ล้านบาร์เรลได้หรือไม่ จากตัวเลขคาดการณ์ล่าสุด เดือน ต.ค. ที่ 33.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) กล่าวว่าหากกลุ่มโอเปคไม่สามารถตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตลงได้ จะส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบจะยังคงล้นตลาดต่อเนื่องในปี 2017 ผลพวงดังกล่าวแม้จะเป็นปัจจัยลบต่อกลุ่มดังกล่าวแต่หุ้นส่วนใหญ่ก็ยังสร้างผลกำไรสวนภาวะดังกล่าวมาได้อย่างสดใส
โดย“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจบทวิเคราะห์ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากรหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภคมานำเสนอ โดยคัดเลือกบริษัทที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/59 มีกำไรเพิ่มขึ้นเกิน 100% และพลิกกลับมามีกำไรโดดเด่นมานำเสนอ โดยครั้งนี้พบว่ามีหุ้นเข้ามาติดเกณฑ์ดังกล่าว 15 ตัว อาทิ PTT, PTTEP, TOP, EGCO, SPRC, PDI, SUPER, BANPU, DEMCO, RATCH, SUSCO, CKP, BCP, LANNA และ PTG ดังตารางประกอบ
หลักทรัพย์ | กำไร Q3/59 | กำไร Q3/58 |
ล้านบาท | ||
PTT | 26,974.28 | -26,581.45 |
PTTEP | 5,446.27 | -46,212.12 |
TOP | 2,941.26 | -2,294.29 |
EGCO | 2,844.77 | -151.32 |
BCP | 1,178.30 | 431.90 |
SPRC | 1,171.93 | -609.05 |
RATCH | 841.51 | 35.34 |
PDI | 221.45 | -74.65 |
SUPER | 203.36 | -128.35 |
PTG | 157.01 | 68.89 |
CKP | 122.22 | 36.17 |
LANNA | 74.23 | 32.50 |
BANPU | 70.12 | -72.27 |
SUSCO | 55.66 | 4.95 |
DEMCO | 40.96 | -161.28 |
โดยหุ้นจำนวนดังกล่าวมีหุ้นที่พลิกมีกำไรโดดเด่น อาทิ PTT, PTTEP, TOP, EGCO, SPRC, PDI, SUPER, BANPU และ DEMCO โดย 3 อันดับแรกโดดเด่นคือ PTT, PTTEP และ TOP
อันดับ 1 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 2.69 หมื่นล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 9.41 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 2.65 หมื่นล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 9.14 บาทต่อหุ้น
โดยผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/59 ที่พลิกมีกำไรเนื่องจาก ต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่ทยอยปรับลงตามราคาน้ำมันที่ลดลงตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ ปตท. ดีขึ้นโดยเฉพาะจากการขายผลิตภัณฑ์จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ
ขณะที่ผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 7.55 หมื่นล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 26.15 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 282.43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.97 หมื่นล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 6.94 บาทต่อหุ้น
บล.ซีไอเอ็มบี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ปรับเพิ่มประมาณการกำไรต่อหุ้น 11-19% ในปี 59-61 ปัจจัยผลักดันในอนาคตคือ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและต้นทุนก๊าซที่ต่ำลง คงคำแนะนำ”ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 402 บาท
อันดับ 2 บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 5.45 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 1.33 บาทต่อหุ้น เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 4.62 หมื่นล้านบาท หรือมีผลขาดทุนสุทธิ 11.46 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวพลิกเป็นกำไรเนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายลดลง โดยค่าเสื่อมราคา ค่าสูญสิ้นและค่าตัดจำหน่ายลดลง รวมทั้งมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ขณะที่ผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 1.37 หมื่นล้านบาท หรือ 3.13 บาทต่อหุ้น เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 3.63 หมื่นล้านบาท หรือ 9.11 บาทต่อหุ้น
บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าพื้นฐาน ณ สิ้นปี 2560 (DCF) ที่ 102 บาทต่อหุ้น แนะนำซื้อ โดยเชื่อว่าแนวโน้มทิศทางราคาน้ำมันยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นจากนี้ซึ่งจะเป็นบวกโดยตรงต่อ PTTEP อีกทั้งยังให้อัตราผลตอบแทนจากปันผลในระดับที่ดีเกือบ 4%p.a. รวมถึงยังมี upside กว่า 23%
อันดับ 3 บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 มีกำไรสุทธิ 2.94พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 1.44 บาทต่อหุ้น เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 2.29 พันล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิ 1.12 บาทต่อหุ้น
โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวที่พลิกกำไรเนื่องจาก บริษัทมีต้นทุนขายสินค้าและต้นทุนการให้บริการลดลง
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 1.54 หมื่นล้านบาท หรือ 7.56 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 83% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ8.43 พันล้านบาท หรือ 4.13 บาทต่อหุ้น
บล.ฟิลลิป ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ แนวโน้มค่าการกลั่นยังมีความกังวลต่ออุปทานใหม่จากอินเดีย เกาหลี อย่างไรก็ตาม TOP มีแผนพัฒนาโรงงานเพื่อให้สามารถรับวัตถุดิบที่มีคุณภาพหนักขึ้น(Heavy crude) เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนการผลิต รวมไปถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มกำลังการกลั่นให้สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาคาดจะชัดเจนช่วงปลาย ไตรมาส 1/60 จึงแนะนำ “ทยอยซื้อ” ปรับไปใช้ราคาพื้นฐานของปี 60 ที่ 73 บาท
ส่วนหุ้นที่กำไรเพิ่มขึ้นเกิน 100% ประกอบด้วย RATCH, SUSCO, CKP, BCP, LANNA และ PTG โดยหุ้นที่มีกำไรเพิ่มขึ้นเกิน 100% 3 อันดับแรกคือ RATCH, SUSCO และ CKP
อันดับ 1 บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 841.51 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.58 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 2282% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 35.34 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.02 บาทต่อหุ้น
โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า ขณะที่บริษัทมีรายได้อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 3.20 พันล้านบาท หรือ 2.21 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2.34 พันล้านบาท หรือ 1.62 บาทต่อหุ้น
บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า RATCH ถือเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดที่มีการเติบโตของกำลังการผลิตชัดเจน โดยถือเป็นหุ้นที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งและมีการจ่ายปันผลที่สม่ำเสมอ ซึ่งคาดปี 59 และ ปี 60 จะจ่ายปันผลที่ราว 2.28 บาท/หุ้น คิดเป็น Dividend Yield ราว 4.5 % ปรับราคาพื้นฐานเป็นปี 60 ที่ 67.00 บาท และแนะนำ “ซื้อ”
อันดับ 2 บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SUSCOรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 55.66 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.05 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 1,024.20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4.95 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.01 บาทต่อหุ้น โดยกำไรในไตรมาส 3/59 ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากบริษัทมีปริมาณการขายน้ำมันเพิ่มขึ้น
ขณะที่ผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 227.88 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.21 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 53.40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 148.56 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.14 บาทต่อหุ้น
บริษัทคาดากำไรสุทธิปีนี้จะสูงกว่าระดับ 155 ล้านบาทในปีที่แล้ว หลังช่วงครึ่งแรกปีนี้ทำกำไรสุทธิได้แล้ว 171.84 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตของกำไรสุทธิเป็นไปตามรายได้ที่คาดว่าจะเติบโตมาที่ราว 2 หมื่นล้านบาท จากราว 1.9 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว ขณะที่อัตรากำไร (มาร์จิ้น) เพิ่มขึ้นมาที่ราว 1.6-1.7 บาท/ลิตร
อันดับ 3 บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 122.22 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.017 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 238% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 36.17 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.005 บาทต่อหุ้น
โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มขึ้น 308.67 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการขายไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 231.67 ล้านบาท หรือ 0.031 บาทต่อหุ้น ลดลง 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 251.22 ล้านบาท หรือ 0.04 บาทต่อหุ้น
*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน