เปิดเมนู 12 หุ้นอาหาร-เครื่องดื่มน่าสอย!ชูงบฯ Q3 โตเกิน100%-พลิกมีกำไรสุดเจ๋ง
เปิดเมนู 12 หุ้นอาหาร-เครื่องดื่มน่าสอย! ชูงบฯ Q3 โตเกิน100%-พลิกมีกำไรสุดเจ๋ง
ช่วงนี้กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มดูจะเป็นหุ้นที่เข้าตานักลงทุน และมีแรงซื้อขายเข้ามาคึกคักเป้นพิเศษ โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกไก่ที่ตีปีกคึกมากสุด เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีใต้อนุมัติให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกไก่สดแช่เย็นและแช่แข็งไปเกาหลีใต้ตั้งแต่ 9 พ.ย.เป็นต้นไปโดยเริ่มทยอยอนุมัติแล้ว 10 แห่ง และอยู่ในกระบวนการรออนุมัติอีก 41 แห่ง โดยมูลค่าการส่งออกไก่สดแช่เย็นและแช่แข็งจากไทยไปเกาหลีใต้สูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
อีกทั้งทางเกาหลีใต้พบเชื้อไข้หวัดนก H5N6 ในฟาร์ม 2 แห่ง ได้ช่วยกระตุ้นให้นำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกไก่
แน่นอนจากปัจจัยดังกล่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”ได้ทำการสำรวจบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมานำเสนอ
โดยครั้งนี้คัดเลือกบริษัทที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/59 มีกำไรเพิ่มขึ้น และพลิกกลับมามีกำไรโดดเด่นมานำเสนอ โดยหุ้นที่เข้ามาติดเกณฑ์ดังกล่าวมีทั้งหมด 12 ตัว อาทิ CPF, TVO,TFG, M, GFPT, CBG, TKN, MALEE, PM, LEE, APURE และ PRG ดังตารางประกอบ
หลักทรัพย์ | กำไร Q3/59 | กำไร Q3/58 |
ล้านบาท | ||
CPF | 5,184.30 | 3,571.42 |
TVO | 1,055.84 | 659.15 |
TFG | 531.71 | -276.02 |
M | 509.91 | 365.49 |
GFPT | 495.67 | 326.25 |
CBG | 439.48 | 299.69 |
TKN | 202.12 | 118.56 |
MALEE | 161.01 | 58.44 |
PM | 101.64 | 80.16 |
LEE | 84.70 | 34.45 |
APURE | 74.00 | 36.61 |
PRG | 9.05 | 6.93 |
ทั้งนี้ หากสังเกตหุ้นดังกล่าวจะเห็นว่าหุ้น MALEE, LEE, APURE เป็นหุ้นที่ทำกำไรเติบโตเกิน 100% ตามมาด้วยหุ้นธุรกิจไก่ที่ทำกำไรได้ได้โดดเด่นทุกตัวคือ CPF, GFPT และ TFG
สำหรับบริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MALEE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 มีกำไรสุทธิ 161.01 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 1.15 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 176% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 58.44 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.42 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานที่มีกำไรเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี ทั้งต้นทุนการผลิต ค่าใช้จ่ายในการขาย และต้นทุนทางการเงิน
บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” MALEE ราคาเป้าหมาย 140.00 บาท มองไตรมาส 3/59 มีผลประกอบการโดดเด่น MALEE มียอดขายและกำไรสุทธิเติบโตอย่างโดดเด่นอีกไตรมาสในไตรมาส 3/59 ขณะที่กำไรสุทธิในสัดส่วน 94.4% ของประมาณการเดิมในปี 59
อัตราส่วนกำไรสุทธิทำสถิติใหม่ที่ 9.1% ในไตรมาส 3/59 เนื่องจากบริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้นรองรับยอดขายที่เติบโตทั้งในไทยและตลาดส่งออก มองเชิงบวกต่อแนวโน้มในปี 59-61 มากขึ้นเพราะยอดส่งออกดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ปรับเพิ่มประมาณการกำไรต่อหุ้น 29-47% ในปี 59-61
ส่วนบริษัท ลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 มีกำไรสุทธิ 84.70 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.09 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 145% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 34.45 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.04 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานที่มีกำไรเพิ่มขึ้นเนื่องจากรายได้ขายอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น และต้นทุนขายที่ลดลงจากการบริหารต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น
ส่วนบริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APURE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 (รวมบริษัทย่อย) มีผลกำไรสุทธิ 74.00 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.077 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 102% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 36.61 ล้านบาท หรือมีผลกำไรสุทธิ 0.038บาทต่อหุ้น โดยผลการดำเนินงานของบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมียอดส่งออกสูงขึ้น-ต้นทุนการผลิตลดลง
ส่วนบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 5.18 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.70 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3.57 พันล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.48 บาทต่อหุ้น
โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนเนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขยายการลงทุนในต่างประเทศ ด้านผลการดำเนินงานในเวียดนามปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ผลการดำเนินงานธุรกิจสัตว์บกในประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้อุตสาหกรรมกุ้งในประเทศซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด Early Mortality Syndrome เริ่มมีการฟื้นตัว
ด้านบริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 495.67 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.40 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 326.25 ล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.26 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวมีกำไรเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากการส่งออก ต้นทุนขายลดลงจากต้นทุนที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ลดลง และรายได้อื่นเพิ่มขึ้น
ส่วนบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.59 (รวมบริษัทย่อย) พลิกมีกำไรสุทธิ 531.71 บาท หรือมีกำไรสุทธิ 0.10 บาทต่อหุ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 276.02 ล้านบาท หรือมีขาดทุนสุทธิ 0.07 บาทต่อหุ้น โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวพลิกมีกำไร เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากธุรกิจไก่และสุกรเพิ่มขึ้น
บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มเกษตร-อาหาร “เท่าตลาด” โดยแนะนำซื้อทั้ง GFPT (ราคาเป้าหมาย 19.00 บาท) และ CPF (ราคาเป้าหมาย 42.00 บาท) ส่วน TFG (ราคาเป้าหมาย 5.50 บาท) เน้นให้เข้าลงทุนเมื่อราคาอ่อนตัว เนื่องจากราคาหุ้นที่ปรับขึ้นแรงในช่วงที่ผ่านมา จนสูงกว่า fair value ไปแล้ว
บล.เออีซี ระบุในบทวิคราะห์ว่า สัปดาห์นี้โบรกฯปะะเมิน SET แกว่งตัวไซด์เวย์ระหว่าง 1,450-1,500 จุด โดยมองตลาดยังอยู่ในช่วงพักตัวด้วยวอลุ่มที่ซึมลง หลังไร้ปัจจัยใหม่และ Fund Flow ยังไหลออกต่อเนื่อง ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนจึงแนะนำให้ “หลีกเลี่ยงลงทุนในหุ้น Big Cap. ซึ่งมีความเสี่ยงถูกขายสูง และให้รอจังหวะกลับมาซื้อหุ้น Big Cap. เมื่อดัชนีปรับตัวลงมาบริเวณ 1,450 จุด”
อย่างไรก็ดีช่วงสั้นนักลงทุนยังสามารถ “Selective Buy ในหุ้น Mid-Small Cap ที่มีประเด็นบวกเฉพาะ” อาทิ หุ้นที่ได้ประโยชนจากบาทอ่อนเทียบดอลล่าร์ เช่น GFPT, CPF, TU เป็นต้น
อย่างไรก็ตามแม้จะไม่สามารถนำเสนอข้อมูลหุ้นได้ครบทั้ง 12 ตัว แต่เป็นที่ชัดเจนว่าผลำกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ถือเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งของหุ้นอย่างชัดเจน ที่สำคัญหุ้นแต่ละตัวมีแผนงานที่โดดเด่นทัั้งปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งโบรกฯเกอร์ส่วนใหญ่แนะนำให้ลงทุน และมีราคาเป้าหมายสูง ดังนั้นนักลงทุนที่กำลังมองหาหุ้นอาหารและเครื่องดื่มก็น่าจะไม่ผิดหวัง
*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน