ลุ้น! “หุ้นถุงยาง” น้องใหม่ TNR เปิดซิงเทรดแข็งตัวเหนือไอพีโอแตะ 17.40 บาท
ลุ้น! "หุ้นถุงยาง" น้องใหม่ TNR เปิดซิงเทรดแข็งตัวเหนือไอพีโอแตะ 17.40 บาท ฝาก โบรกฯ มองแนวโน้มผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง
ลุ้น! “หุ้นถุงยาง” น้องใหม่ TNR เปิดซิงเทรดแข็งตัวเหนือไอพีโอแตะ 17.40 บาท ฝาก โบรกฯ มองแนวโน้มผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง
นายอมร ดารารัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TNR เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรกในวันที่ 29 พ.ย.59 ชื่อย่อ TNR หลังจากเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 75 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท ให้แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไปได้จองเมื่อวันที่ 21-23 พ.ย.ที่ผ่านมา ในราคาหุ้นละ 16 บาท พบว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน
ทั้งนี้ TNR ถือเป็นผู้ผลิตถุงยางอนามัยรายใหญ่ที่สุดในไทยและรายใหญ่ของโลก ด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง 1,959 ล้านชิ้นต่อปี จากฐานการผลิต 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง มีกำลังการผลิตติดตั้ง 426 ล้านชิ้น และโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง จังหวัดชลบุรี มีกำลังการผลิตติดตั้งอีก 1,533 ล้านชิ้น เพื่อรองรับธุรกิจที่แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1.การผลิตและจำหน่ายถุงยางอนามัยภายใต้เครื่องหมายการค้า Onetouch ที่จำหน่ายผ่านผู้จัดจำหน่ายและตัวแทนจำหน่ายเพื่อกระจายสินค้าไปยังช่องทางต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา,สปป.ลาว, เมียนมาร์และเวียดนาม) ประเทศอียิปต์ ฯลฯ
2.กลุ่มธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) ถุงยางอนามัยและเจลหล่อลื่น โดยบริษัทเป็นผู้รับจ้างผลิตให้แก่บริษัทเอกชนและองค์กรเอกชน (NGOs) ทั้งในและต่างประเทศกว่า 100 ประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป แอฟริกา อเมริกา ออสเตรเลียและแถบตะวันออกกลาง รวมถึงเป็นผู้รับจ้างผลิตถุงยางอนามัยให้กับ United Medical Devices ภายใต้เครื่องหมายการค้า PLAYBOY ทั่วโลกและยังเป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
3.กลุ่มธุรกิจงานประมูล (Tender) ที่ได้เข้าร่วมประมูลงานจากองค์กรภาครัฐและองค์กรเอกชน (NGOs) ในไทยและต่างประเทศ เนื่องจากมีมาตรฐานการผลิตที่มีคุณภาพสูง สอดรับกับหลักเกณฑ์ของธุรกิจการประมูล ซึ่งออเดอร์ในส่วนนี้จะเข้ามาเติมเต็มการใช้กำลังการผลิตและลดต้นทุนการผลิตสินค้าต่อหน่วย
ทั้งนี้หลังจากเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วบริษัทมีเป้าหมายจะก้าวเป็นผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายถุงยางอนามัยและเจลหล่อลื่นภายใต้เครื่องหมายการค้า “Onetouch” ในประเทศไทยและกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม ซึ่งส่งผลดีอัตรามาร์จิ้นที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต ส่วนการขยายตลาดในไทยบริษัทตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดถุงยางอนามัยภายใต้แบรนด์ Onetouch เป็น 35% ของตลาดรวมภายในปี 63 จากเดิมที่มีอยู่ 20.6% ของมูลค่าตลาดรวมในช่วงเดือน ก.ย.57 ถึงเดือน ส.ค.58
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนมุ่งกระจายสินค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศผ่านช่องทางร้านค้าสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) และร้านค้าแบบดั้งเดิม เช่น ร้านยี่ปั๊ว ร้านซาปั๊ว ร้านขายยารวมถึงทำประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ในตราสินค้าให้มากขึ้น
ขณะที่ตลาดต่างประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม) จะเพิ่มตัวแทนจำหน่ายหรือผู้จัดจำหน่ายที่มีศักยภาพและมีเครือข่ายร้านค้าเป็นจำนวนมาก เพื่อกระจายสินค้าได้อย่างทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ จะเร่งขยายตลาดผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Onetouch ไปสู่ประเทศใหม่ๆ โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตอีกด้วย
ส่วนผลการดำเนินงานในปี 56-58 เติบโตต่อเนื่อง โดยบริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าปี 56 อยู่ที่ 1,053.2 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 96.5 ล้านบาท และปี 57 อยู่ที่ 1,182.4 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 108.6 ล้านบาท ขณะที่ปี 58 อยู่ที่ 1,302.2 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 234 ล้านบาท สำหรับในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้า 934.2 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 158.1 ล้านบาท
“เรามั่นใจในพื้นฐานธุรกิจของบริษัท โดยนอกจากความเชี่ยวชาญในการผลิตถุงยางอนามัยและความพร้อมในด้านกำลังการผลิตแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้เปิดตัวถุงยางอนามัยวันทัช ซีโร่ ซีโร่ ทรี (Onetouch 003) ที่เป็นถุงยางอนามัยผิวเรียบ แบบบาง 0.03-0.038 มิลลิเมตร ที่มีความบางที่สุดเท่าที่บริษัท เคยผลิต เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักอายุ 18-45 ปี ที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไปและชื่นชอบถุงยางอนามัยที่บางพิเศษในราคาที่คุ้มค่าซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค” นายอมร กล่าว
ขณะที่ นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย หรือ บล.กสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำน่ายและรับประกันการจำหน่าย TNR เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดถุงยางอนามัยมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่องทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า เนื่องจากสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และช่วยคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกันก็เป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาได้ยาก เนื่องจากถุงยางอนามัยถูกจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่จะต้องผลิตให้ได้ตามมาตรฐานต่างๆ โดยในการประมูลงานจากองค์กรภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนนั้น ส่วนใหญ่กำหนดว่าจะต้องทดสอบคุณสมบัติตามอายุของผลิตภัณฑ์เป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี
ทั้งนี้ TNR ถือเป็นผู้ผลิตถุงยางอนามัยจากน้ำยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้ผลิตที่มีคุณภาพมาตลอด 22 ปี โดยโรงงานผลิตทั้ง 2 แห่งได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ อาทิ มาตรฐาน ISO 9001 มาตรฐาน ISO 13485 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้บริษัทสามารถผลิตและจำหน่ายถุงยางอนามัยให้แก่ลูกค้าได้กว่า 100 ประเทศทั่วโลก
โดย TNR จะเข้าซื้อขายใน SET ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดธุรกิจของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ โดยกำหนดวันที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนและวันที่เริ่มทำการซื้อขาย ในวันที่ 29 พ.ย.59 มีจำนวนหุ้นจดทะเบียนกับตลท. 300,000,000 หุ้น ทุนชำระแล้ว 300,000,000 หุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ทุนชำระแล้ว 300,000,000 บาท จำนวนหุ้นที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 75,000,000 หุ้น ราคา IPO ที่ 16 บาท/หุ้น
สำหรับผลประกอบการของบริษัทปี 58 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 233.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 116% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 108.55ล้านบาท ขณะที่ ผลประกอบการงวดไตรมาส 3/59 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 47.15 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10% จากงวดเดียวกันของปีมีก่อนมีกำไรอยู่ที่ 42.87ล้านบาท ด้าน 9 เดือนแรกของปี 59 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 158.07ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรอยู่ที่ 156.95ล้านบาท
ขณะที่ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ โดยให้ราคาเป้าหมาย TNR อยู่ในช่วง 17.46-19.40 บาท โดยประเมินจาก P/E ในช่วง 18-20 เท่า โดยระดับ P/E เป้าหมายต่ำกว่าการซื้อขายของบริษัทในต่างประเทศที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกันอย่าง KAREX หรือ RBGLY ที่ซื้อขาย P/E ที่ 30 และ 22 เท่าตามโครงสร้างรายได้และการเติบโตที่แตกต่างกัน
โดย TNR ผู้ผลิตและจำหน่ายถุงยางอนามัยที่มีกำลังการผลิตติดตั้งสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีแบรนด์ของตนเอง คือ Onetouch โดยรายได้หลักของบริษัทมาจากการเป็นผู้ผลิตแบบ OEM เป็นหลัก ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์การใช้เงินในการทำ IPO ในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อชำระคืนเงินกู้ลดภาระดอกเบี้ยจ่าย โดยในรายงานงบไตรมาส 2 มีหนี้เงินกู้ที่ต้องชำระดอกเบี้ยจำนวน 430 ล้านบาท
ทั้งนี้ การเติบโตของกำไรสุทธิในปี 60 คาดว่าจะเติบโต 25.2% ในขณะที่ปีต่อๆ ไป คาดว่าจะมีการเติบโตประมาณ 7% เป็นผลจากการคืนหนี้และการขยายตลาดในส่วนของ Onetouch และ OEM ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรดี
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวรายหนึ่ง เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ว่าราคาหุ้น TNR เข้าซื้อขายในวันแรก (28 พ.ย.) มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นถึง 17.40 บาท จากราคา IPO ที่ 16.00 บาท โดยคำนวณจากค่า P/E ที่ระดับ 20 เท่า และกำไรต่อหุ้นที่ 0.87 บาท โดยมองว่า ผลิตภัณฑ์ถุงยางอนามัยเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคใช้แล้วทิ้ง ความต้องการซื้อจึงมีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ธุรกิจ TNR จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง