ส่องราคาหุ้น “บลูชิพ” 11 เดือน ชูรีเทิร์นสูง-ผลตอบแทนชนะตลาด
ส่องราคาหุ้น “บลูชิพ” 11 เดือน ชูรีเทิร์นสูง-ผลตอบแทนชนะตลาด
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน SET50 ช่วง 11 เดือน โดยเทียบราคาปิด ณ วันที่ 30 ธ.ค.58-30 พ.ย.59 โดยพบว่าหุ้นส่วนใหญ่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมากกว่าปรับตัวลดลง โดยมีหุ้นที่ปรับตัวขึ้นทั้งหมด 36 ตัว ขณะที่มีหุ้นที่ปรับตัวลง 14 ตัว
ขณะเดียวกันหากสังเกตุหุ้นที่ปรับตัวขึ้นจะมีหุ้น 18 ตัวที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET) และดัชนีกลุ่ม (SET50) โดยเห็นได้จากดัชนีตลาดช่วง 11 เดือนเพิ่มขึ้น 17.25% จากระดับ 1288.02 จุด (30 ธ.ค. 58) บวก 222.22 จุด มาอยู่ที่ระดับ 1510.24 จุด (30 พ.ย.59) ส่วนดัชนี SET50 เพิ่มขึ้น 15.93% จากระดับ 813.55 จุด บวก 129.63จุด มาอยู่ที่ 943.18 จุด (30 พ.ย.59) นำโดย CBG, KCE, GPSC, CPF, IVL, CPALL, ROBINS และ HMPRO
หลักทรัพย์ | 30 พ.ย.59 | 31 ธ.ค.58 | เปลี่ยนแปลง | |
บาท | % | |||
CBG | 76.25 | 34.50 | 41.75 | 121.01 |
KCE | 120.50 | 70.00 | 50.50 | 72.14 |
GPSC | 36.50 | 22.20 | 14.30 | 64.41 |
CPF | 28.75 | 18.30 | 10.45 | 57.10 |
IVL | 33.00 | 21.30 | 11.70 | 54.93 |
CPALL | 60.25 | 39.25 | 21.00 | 53.50 |
ROBINS | 66.00 | 43.50 | 22.50 | 51.72 |
HMPRO | 10.30 | 6.80 | 3.50 | 51.47 |
BEM | 7.75 | 5.25 | 2.50 | 47.62 |
PTTEP | 82.50 | 57.25 | 25.25 | 44.10 |
PTT | 349.00 | 244.00 | 105.00 | 43.03 |
EGCO | 199.00 | 151.50 | 47.50 | 31.35 |
MTLS | 27.25 | 21.30 | 5.95 | 27.93 |
PTTGC | 62.50 | 50.00 | 12.50 | 25.00 |
TRUE | 1.68 | 1.35 | 0.33 | 24.44 |
SCB | 146.50 | 119.50 | 27.00 | 22.59 |
TCAP | 44.00 | 36.50 | 7.50 | 20.55 |
TU | 20.70 | 17.20 | 3.50 | 20.35 |
CPN | 56.50 | 47.00 | 9.50 | 20.21 |
BANPU | 18.70 | 16.00 | 2.70 | 16.88 |
AOT | 402.00 | 346.00 | 56.00 | 16.18 |
KBANK | 169.50 | 150.50 | 19.00 | 12.62 |
IRPC | 4.84 | 4.30 | 0.54 | 12.56 |
DTAC | 34.00 | 30.25 | 3.75 | 12.40 |
TOP | 74.00 | 66.00 | 8.00 | 12.12 |
TPIPL | 2.32 | 2.10 | 0.22 | 10.48 |
CK | 31.50 | 29.00 | 2.50 | 8.62 |
GLOW | 79.00 | 74.00 | 5.00 | 6.76 |
KTB | 17.60 | 16.70 | 0.90 | 5.39 |
WHA | 3.00 | 2.86 | 0.14 | 4.90 |
BA | 24.20 | 23.10 | 1.10 | 4.76 |
BDMS | 23.30 | 22.30 | 1.00 | 4.48 |
SCC | 476.00 | 460.00 | 16.00 | 3.48 |
MINT | 9.50 | 9.25 | 0.25 | 2.70 |
BBL | 156.00 | 152.50 | 3.50 | 2.30 |
TTW | 10.80 | 10.60 | 0.20 | 1.89 |
BCP | 32.75 | 33.00 | -0.25 | -0.76 |
DELTA | 75.75 | 76.50 | -0.75 | -0.98 |
LH | 9.30 | 9.45 | -0.15 | -1.59 |
INTUCH | 49.75 | 52.00 | -2.25 | -4.33 |
BTS | 8.70 | 9.10 | -0.40 | -4.40 |
ADVANC | 144.50 | 152.00 | -7.50 | -4.93 |
BLA | 52.75 | 55.50 | -2.75 | -4.95 |
CENTEL | 41.25 | 44.00 | -2.75 | -6.25 |
BH | 192.00 | 211.00 | -19.00 | -9.00 |
SAWAD | 41.00 | 47.75 | -6.75 | -14.14 |
TMB | 2.02 | 2.42 | -0.40 | -16.53 |
BEC | 18.50 | 30.50 | -12.00 | -39.34 |
PS | 15.20 | 26.50 | -11.30 | -42.64 |
TASCO | 18.10 | 40.50 | -22.40 | -55.31 |
โดย อันดับ 1บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ราคาช่วง 11 เดือนปรับตัวเพิ่มขึ้น 121.01% จากราคา ณ วันที่ 30 ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 34.50 บาท บวก 41.75 บาท มาอยู่ที่ 76.25 บาท ณ วันที่ 30 พ.ย.59
ด้านนักวิเคราะห์ บล.เออีซี ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” CBG ให้ราคาเป้าหมาย 85 บาท/หุ้น หลัง CBG ตั้งเป้าเป็นเบอร์หนึ่งตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศ โดยตั้งแต่เดือน มิ.ย. 59 พบว่าคาราบาวยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งที่ภาคกลาง (ภาคกลางยกเว้นกรุงเทพฯมีส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังราว 27% ) และเตรียมที่จะชิงส่วนแบ่งตลาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป (ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดราว 26%)
ขณะที่ยังคงประมาณการเดิม โดยคาดช่วงไตรมาส 4/59 กำไรจะหดตัวจากไตรมาสก่อนเพราะมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่สูงขึ้นจากการรุกตลาดที่ยุโรป แต่ยังคงเห็นการเติบโตจากปีก่อนจากการเพิ่มความเข้มข้นในกลยุทธ์เชิงรุกและรับ หนุนให้ทั้งปี 2559 บริษัทจะมีกำไรสุทธิ 1,513 ล้านบาท โต 20.5% จากปีก่อน
นอกจากนี้ยังคงมั่นใจศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของ CBG บวกกับราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside จากพื้นฐานปี 2560 (วิธี DCF) ที่ 85 บาท และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรช่วงครึ่งปีหลังของปี 59 ที่หุ้นละ 0.66 บาท คิดเป็น Div. Yield 0.9% จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ”
อันดับ 2บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ราคาช่วง 11 เดือนปรับตัวเพิ่มขึ้น 72.14% จากราคา ณ วันที่ 30 ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 120.50 บาท บวก 50.50 บาท มาอยู่ที่ 70.00 บาท ณ วันที่ 30 พ.ย.59
ด้านนักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” KCE ให้ราคาเป้าหมายระยะสั้น 125 บาท หลังจากแนวโน้มของการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการแผ่นวงจรพิมพ์สำหรับยานยนต์ (Automotive PCB) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขยายกำลังการผลิตเฟส 3 ของโรงงานที่ลาดกระบังช่วยเพิ่มกำลังการผลิตรวมอีก 23% ซึ่งจะเริ่มการผลิตต้นปี 2560
ด้านอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้นจากความประหยัดต่อขนาด (economies of scale) ที่ปรับดีขึ้นและอัตราของเสียที่ดีที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ทิศทาง GPM ที่ดีขึ้นจะยังคงมีต่อเนื่องในครึ่งหลังของปี 59 เนื่องจากมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
ขณะที่ยังมีปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตต่อไปคือการขยายโครงการเฟส 3 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานและจะเข้าสู่ช่วงทดสอบในไตรมาส 4/59 สำหรับกำลังการผลิตใหม่จะพร้อมดำเนินงานเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1/60 ทั้งนี้มองว่ากำไรมีทิศทางที่แข็งแกร่ง ซึ่งคาดการเติบโตเฉลี่ยที่ 20.6% ในปี 2560-61
อันดับ 3บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ราคาช่วง 11 เดือนปรับตัวเพิ่มขึ้น 64.41% จากราคา ณ วันที่ 30 ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 22.20 บาท บวก 14.30 บาท มาอยู่ที่ 36.50 บาท ณ วันที่ 30 พ.ย.59
ด้านนักวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” GPSC ราคาเป้าหมาย 39 บาท/หุ้น โดยคงประมาณการปี 59 ที่ 2.76 พันล้านบาท เติบโต 45% จากปีก่อนโดยมีมุมมองเชิงลบต่อผลประกอบการในไตรมาส 4 เนื่องจากคาดว่าจะไม่มีเงินปันผลรับจาก โรงไฟฟ้าราชบุรี (ประกาศจ่ายปันผลทุกไตรมาส 1 และ 3) อีกทั้งเริ่มเข้าฤดูหนาวทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง
ทั้งนี้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 60 เพิ่มขึ้น 3% สู่ระดับ 2.91 พันล้านบาท : ฝ่ายวิจัยมีมุมมองบวกต่อผลประกอบการปี 60 แม้ว่าปันผลรับจากโรงไฟฟ้าราชบุรีจะลดลงตามอายุของโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง BOI ของบริษัทจะหมดอายุ 3 โครงการในปลายปีนี้ทำให้อัตราภาษีเพิ่มขึ้นจาก 3-4% ในปีนี้เป็น 6-7%ในปีหน้า อย่างไรก็ตามเรามองว่ากำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มเข้ามา 153.85MW ในปี 60 โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า IRPC CLEAN เฟส2 กำลังการผลิต 99 MW (COD 2Q60) จะเป็นโครงการหลักที่หนุนให้ผลประกอบการเติบโตจากปี 59 ได้จึงปรับเพิ่มประมาณกำไรปี 60 เพิ่มขึ้น 3% สู่ระดับ 2,907 ล้านบาทเติบโต 5% จากปีก่อน พร้อมคาดเงินปันผลที่ 1.15 บาทต่อหุ้นในปี 59 คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 3.3% ต่อปี
อันดับ 4บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ราคาช่วง 11 เดือนปรับตัวเพิ่มขึ้น 57.10% จากราคา ณ วันที่ 30 ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 18.30 บาท บวก 10.45 บาท มาอยู่ที่ 28.75 บาท ณ วันที่ 30 พ.ย.59
ด้านนักวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “HOLD” CPF ราคาเป้าหมาย 27 บาท/หุ้น โดยทำการปรับลดคำแนะนำ และราคาเป้าหมายลงเนื่องจากผลกระทบของไข้หวัดนก เกรงว่าจะทำให้การบริโภคไก่ของพลเมืองในญี่ปุ่น ยุโรป เกาหลีใต้ และจีน ชะลอตัวลงระยะหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะกระทบกับการส่งออกไก่ของประเทศไทย ขณะที่ไตรมาส 4 และ 1 เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของการส่งออกสินค้าประเภทอาหารแปรรูป ต้องรอไฮท์ซีซั่นไตรมาส 2 และ 3 ปีหน้า
อันดับ 5บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL ราคาช่วง 11 เดือนปรับตัวเพิ่มขึ้น 54.93% จากราคา ณ วันที่ 30 ธ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 21.30 บาท บวก 11.70 บาท มาอยู่ที่ 33.00 บาท ณ วันที่ 30 พ.ย.59
ด้านนักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ขาย” IVL ราคาเป้าหมาย 23.70 บาท/หุ้น หลังอัตรากำไรของผลิตภัณฑ์ Polyester คงที่ในเดือน ต.ค. หลังจากที่ปรับตัวลดลงในเดือนที่ผ่านมา ในด้านของผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ PET เรซินของทางตะวันตกมีอัตรากำไรลดลง 17% จากปีก่อนเป็น 172 ดอลลาร์/ตัน ขณะที่ราคา PET ของทางเอเซียปรับตัวลดลง 4% จากปีก่อนเป็น 108 ดอลลาร์/ตัน
ขณะที่ตลาด PET รับรู้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นแล้วจากข้อมูลของ IHS อุปสงค์ของอุตสาหกรรมผลิตขวด PET เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือน ต.ค. แต่คาดว่าจะคงที่ในช่วงไตรมาส 1/60 ในขณะที่กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น โดยทาง M&G ยังอยู่ระหว่างการเริ่มโรงงาน Corpus Christi PET ในช่วงปลายไตรมาส 1/60 และจะทำให้อุปทานในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาก
ทั้งนี้มองว่าอัตรากำไรของกลุ่มจะลดลงในปี 60 โดยอัตรากำไรของ PET อาจลดลงได้อีกใน 2H17 และอัตรากำไร PTA ที่ดีกว่าคาด จากการหยุดผลิตของกลุ่มประเทศ G20 และอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่เพิ่มขึ้นจากหน้าร้อนที่ยาวขึ้น
ทั้งนี้ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงดังกล่าว ส่วนใหญ่จะได้ปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจที่เอื้อให้ผลการดำเนินงานโดดเด่น ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นหลังมองเห็นถึงพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และศักยภาพการวางแผนธุรกิจของผู้บริหาร อย่างไรก็ตามราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นอาจอยู่ในภาวะแรงซื้อมากเกินไป นักลงทุนก็ต้องระวังการเข้าลงทุนไว้ด้วยขณะที่ต้องดูค่า P/E เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าหุ้นตัวนั้นถูกหรือแพงเกินไปหรือไม่
ขณะที่หุ้นที่ปรับตัวลงแรงนั้น หุ้นบางตัวอาจถูกปัจจัยลบส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลงแรง ทั้งนี้นักลงทุนยังสามารถเลือกซื้อหุ้นที่มีราคาถูกเหล่านี้ได้ หากบริษัทนั้นๆยังมีผลการดำเนินงานที่ดี และพื้นฐานยังแข็งแกร่ง เพราะหากมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งหุ้นจะมีโอกาสปรับตัวกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว
*อนึ่งราคาหุ้นบริษัท พฤกษา จำกัด (มหาชน) หรือ PS ปรับตัวลงแรง เนื่องจากบริษัทได้ทำการปรับโครงสร้างเป็นโฮลดิ้ง โดยการนำบริษัทพฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน ) หรือ PSH เข้าจดทะเบียนแทน และเพิกถอนหลักทรัพย์ PS ในวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ก่อนก่อนวันถูกเพิกถอนราคาหุ้นปรับตัวลงแรง
โดยข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน