SCC แจ้งงบฯปี 59 วันนี้! ลุ้นกำไรนิวไฮต่อแนะเก็บงานรัฐหนุน-ปันผลหรูแถมอัพไซด์สูง
SCC แจ้งงบฯปี 59 วันนี้! ลุ้นกำไรนิวไฮต่อ ชูรับผลดีงานภาครัฐหนุน 5 โบรกฯดังเชียร์ซื้อให้เป้าสูงเกิน 600 บาท พร้อมอัพไซด์เกิน 20%
SCC แจ้งงบฯปี 59 วันนี้! ลุ้นกำไรนิวไฮต่อ ชูรับผลดีงานภาครัฐหนุน 5 โบรกฯดังเชียร์ซื้อให้เป้าสูงเกิน 600 บาท พร้อมอัพไซด์เกิน 20%
เริ่มเข้าสู่ช่วงประกาศงบปี 59 โดยบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC เป็นหนึ่งแห่งที่นักลงทุนในและต่างประเทศให้ความสนใจและเฝ้าติดตามผลการดำเนินงาน เพราะด้วยจุดเด่นใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจแพคเกจจิ้งทำให้นักลงทุนยังให้ความมั่นใจเข้าลงทุนหุ้นรายนี้ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามแม้แนวโน้มกำไรไตรมาส 4/59 จะอ่อนตัวลง จากธุรกิจปิโตรเคมีเป็นหลัก เนื่องจากบริษัทได้หยุดซ่อมบำรุงโรงปิโตรเคมี ROC แต่หากเทียบรายปีธุรกิจยังเติบโตต่อเนื่องและมีลุ้นทำสถิติสูงสุดตลอดกาลอีกด้วย อีกทั้งแนวโน้มปี 60 จะเป็นอีกปีที่ธุรกิจยังแข็งแกร่งและถือเป็นหนึ่งในหุ้นทีได้รับ sentiment เชิงบวกจากการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
ทั้งนี้ด้วยพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง และการเติบโตในอนาคตทั้งจากการขยายเข้าไปสู่ตลาดอาเซียน และดีล M&A บวกกับราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายบน PE ต่ำเพียง 11.8 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี อีกทั้งคาดจะจ่ายปันผลครึ่งหลังปี 59 หุ้นละ 10.0 บาท ทำให้ 5 โบรกเกอร์ชั้นของไทยประสานเสียงแนะซื้อหุ้นรายนี้ด้วยเป้าหมายสูงเกิน 600 บาท พร้อมอัพไซด์เกิน 20%
บล.เอเซีย พลัสระบุในบทวิเคราะห์ว่า หลังจากเสร็จสิ้นการรายงบงวดไตรมาส 4/59 ของธนาคาร นับจากนี้ติดตามการรายงานผลประกอบการของกลุ่ม Real Sectorซึ่งในช่วงเที่ยงวันนี้(25 ม.ค.) โดย SCC (FV@B 610) น่าจะประกาศเป็นรายแรก
โดยประเมินกำไรสุทธิไว้ 10,798 ล้านบาท ลดลง 6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนเพราะบริษัท ระยองโอเลฟินส์ ซึ่งเป็นโรงงานปิโตรเคมีต้นน้ำ ได้หยุดซ่อมบำรุง 40 วัน ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.59 แต่อย่างไรก็ตามถือเป็นฐานกำไรที่ยังสูงมาก จาก Spread ผลิตภัณฑ์หลักทั้ง HDPE,PP ที่ดีขึ้น เทียบกับ Naphtha (ต้นทุน)
ขณะที่อุปทานใหม่จะปี 60-64 เข้ามาใกล้เคียงกับความต้องการ ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานโอเลฟินส์ทั่วโลกยังอยู่ในระดับระดับสูงกว่า 90% จึงเชื่อว่าวัฏจักรขาขึ้นของธุรกิจปิโตรเคมีรอบนี้ น่าจะกินเวลายาวนานไปถึงปี 64 และจะเป็นตัวสร้างกระแสเงินสดที่สำคัญให้กับ SCC ที่พร้อมจะต่อยอดในการขยายธุรกิจต่อไป
โดย EBITDA ที่ทำได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท/ปี พร้อมลงทุนเฉลี่ย 50,000 ล้านบาท/ปี โดยมีแผนซื้อกิจการโรงปูนในเวียดนาม และการลงทุน Greenfields ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม ซึ่งถือเป็น Potential Growth ที่อยู่นอกเหนือประมาณการ ภายใต้มูลค่าหุ้น (DCF) เดิม 610 บาท เทียบ มี Upside อีก 23% “ซื้อ”
บล.ฟินันเซีย ไซรัสระบุในบทวิเคราะห์ว่า แม้คาดกำกำไรไตรมาส 4/59 จะอ่อนแอ -34% เทียบไตรมาสก่อนหน้า และ -19% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทั้งปีน่าจะทำนิวไฮได้ตามคาด ส่วนปี 2017 แม้เราประเมินกำไรชะลอลง แต่เป็นการชะลอลงจากฐานสูงในปี 2016 ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด
อย่างไรก็ตามเชื่อว่า SCC จะยังรักษาฐานกำไรระดับ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่น่าประทับใจไว้ได้ โดยเราชอบ SCC ที่เป็นหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง การเติบโตในอนาคตจะมาจากการขยายเข้าไปสู่ตลาดอาเซียน และ ดีล M&A ปัจจุบันยังซื้อขายบน PE ต่ำเพียง 11.8 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี
สำหรับแนวโน้มปี 60 ประเมินกำไรที่ 5.0 หมื่นล้านบาท -5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานสูงในปี 59 โดยชะลอลงจากธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ Margin น่าจะลดลงเพราะราคาน้ำมันดิบที่ขยับขึ้นทำให้ส่วนต่างราคาแคบลง อย่างไรก็ตาม ด้วยอุปสงค์ที่ยังอยู่ระดับดี น่าจะทำให้ Margin ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยคาด HDPE-Naphtha และ PP-Naphtha ที่ US$700/ตัน -4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและ US$600/ตัน -5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ ส่วนธุรกิจวัสดุก่อสร้างในประเทศน่าจะฟื้นตัวได้จากการก่อสร้างภาครัฐที่เป็นรูปธรรม และ การเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยมากขึ้น
คงราคาเป้าหมายที่ 600 บาท (Sum Of The Part) และ คงคำแนะนำซื้อ ซึ่งแม้กำไรปี 60 จะชะลอลงแต่เป็นการชะลอจากฐานสูง และเชื่อว่า SCC จะยังรักษากำไรในระดับ 5 หมื่นล้านบาทไว้ได้ โดยในระยะยาว SCC ยังเป็นหุ้นที่น่าประทับใจในเชิงพื้นฐาน การเติบโตในอนาคตจะมาการเข้าไปลงทุนในตลาดที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ไปสู่ HVA มากขึ้น ซึ่งสามารถเพิ่ม Margin และ ลดความผันผวนของตลาดได้
ดังนั้นจึงยังคงคำแนะนำซื้อ นอกจากนี้ หุ้นยังเป็นตัวแทนรับ Sentiment บวกจากการก่อสร้างภาครัฐที่จะเกิดขึ้นจริงในปีนี้ ปัจจุบันซื้อขายบน PE ที่ 11.8 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่เท่ากับ 15.0 เท่า ดังนั้น ด้วย Valuation ที่ถูก ขณะที่กำไรยังอยู่ในระดับสูงน่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่จำกัด Downside ของราคาหุ้นได้ คาดเงินปันผลงวด 2H16 เท่ากับ 10.0 บาท/หุ้น คิดเป็น Yield 2.0%
บล.เคทีบี (ประเทศไทย)ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาด SCC จะมีกำไรสุทธิในไตรมาส 4/59 อ่อนตัวลงอยู่ที่ระดับ 9,887 ล้านบาท (-29.8% เทียบไตรมาสก่อนหน้า, -13.6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) ลดลงจากธุรกิจปิโตรเคมีเป็นหลัก โดยบริษัทได้หยุดซ่อมบำรุงโรงปิโตรเคมี ROC (ขนาดกำลังการผลิต 1.2 ล้านตันต่อปี) เป็นระยะเวลา 40 วันในเดือนพฤศจิกายน กดดันต่อปริมาณขาย
ขณะที่ส่วนต่างราคาเม็ดพลาสติกทั้งในส่วนของ HDPE และ PP ได้อ่อนตัวลงจากราคาแนฟทา (ใช้เป็นวัตถุดิบ) ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตามราคาน้ำมันดิบ (เพิ่มขึ้นจาก $389 เป็น $450 ต่อตัน)
นอกจากนี้เราคาดบริษัทจะมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนหลังเงินบาทอ่อนตัวลงกว่า 1.2 บาท/$ ระหว่างไตรมาสอีกด้วย ทั้งนี้หากผลประกอบการออกมาตามที่คาด SCC จะมีผลประกอบการในปีนี้ที่ 53,074 ล้านบาท (+16.9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) ซึ่งทำลายสถิติ ขึ้นเป็นระดับสูงสุดตลอดกาลต่อเนื่องจากปีก่อนหน้านี้
ถึงแม้ปัจจุบัน ส่วนต่างราคาเม็ดพลาสติกทั้งในส่วนของ HDPE และ PP จะอ่อนตัวลงมากจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาแนฟทา ซึ่งสะท้อนราคาน้ำมันดิบโดยทันที เทียบกับราคาเม็ดพลาสติกที่ทรงตัว (การปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันมี lag time) จะกดดันต่อผลประกอบการของธุรกิจปิโตรเคมีในระยะสั้น
อย่างไรก็ตามเรามองราคาเม็ดพลาสติกในช่วงที่เหลือของปีจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบได้ตามกลไกทางด้านต้นทุน ซึ่งจะผลักดันให้ส่วนต่างราคาดังกล่าวฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ราคาถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้นก่อนหน้านี้จะทำให้ปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติก PVC และ PP จากการใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบในจีนลดลง หนุนให้ส่วนต่างราคา PVC ที่ปรับตัวสูงขึ้นสามารถทรงตัวต่อเนื่องในระดับปัจจุบันได้
มอง SCC จะเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับ sentiment เชิงบวกจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในปีนี้ ซึ่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐนอกจากจะช่วยทำให้แนวโน้มการดำเนินงานของธุรกิจวัสดุก่อสร้างของบริษัทมีทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว การลงทุนดังกล่าวยังจะช่วยหนุนและกระตุ้นให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นได้ในอนาคตด้วย (หนุนให้การจับจ่ายของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นทางอ้อม) เราประเมินกำไรปีนี้อยู่ที่ระดับ 49,947 ล้านบาท อ่อนตัวลงเล็กน้อยจากส่วนต่างราคาเม็ดพลาสติกที่ต่ำลงและผลของ stock gain ที่เกิดขึ้นระหว่างไตรมาสจำนวนมากในปีที่ผ่านมา
ปรับราคาเหมาะสมของ SCC ขึ้นเล็กน้อยเป็น 624 บาท (อิง P/E 15 เท่า) เพิ่มขึ้นสะท้อนกำไรปีนี้ที่สูงขึ้นกว่าที่เคยคาดเล็กน้อย โดยมองว่าบริษัทเป็นตัวเต็งที่จะได้ sentiment เชิงบวกจากการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ขณะที่มองส่วนต่างราคาเม็ดพลาสติกที่อ่อนตัวลงเป็นเพียงผลระยะสั้น และจะปรับตัวสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันได้ในช่วงที่เหลือของปี ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” สำหรับ SCC
บล.เคจีไอ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า อุปสงค์การใช้ปูนซีเมนต์อ่อนแอกว่าที่คาดในไตรมาส 4/59 โดยลดลง 1.0%-2.0% จากการลดลง 1.0% ในงวด 9M16 บวกกับการปิดซ่อมบำรุงโรงงาน ROC เป็นเวลา 40 วันในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส4/59 อ่อนลง คาดว่า EBITDA Margin รวมในไตรมาส 4/59 จะลดลง 15.3% จาก 17.9% ใน ไตรมาส 4/58 ซึ่งจะส่งผลให้กำไรใน ไตรมาส 4/59 ลดลง 23.8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนเหลือ 8.7 พันล้านบาท
ดังนั้นจึงปรับลดประมาณการกำไรปกติในปี 2559 ลดลง 1.4% เหลือ 5.24 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ spread ของทั้ง HDPE/naphtha และ PP/naphtha ยังแข็งแกร่งใน ไตรมาส4/59 อยู่ที่ US$687/ton และ US$640/ton จาก US$708/ton และ US$554/ton ใน 4Q58 ตามลำดับ เนื่องจากมีการเลื่อนการเพิ่มอุปทานในตลาดออกไป
ราคาน้ำมันที่ผันผวนในช่วงไตรมาส 4/59 ซึ่งฉุดให้ spread เคมีภัณฑ์ลดลง 8.0-9.0% เทียบไตรมาสก่อนหน้าก่อให้เกิดความกังวลว่าจุดสูงสุดของวัฏจักร (peak cycle) ราคากลุ่มเคมีภัณฑ์ได้ผ่านพ้นไปแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปทานที่ขาดแคลนทั้งในสาย ethylene และ propylene บวกกับอุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้นของกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก คาดจะช่วยหนุนให้ peak cycle ของเคมีภัณฑ์ยืดออกไปอีก 4-5 ปีจากปัจจุบัน
นอกจากนี้ การที่อุปสงค์เริ่มฟื้นตัว ทำให้ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์สามารถตั้งราคาขายสูงขึ้นได้ เพื่อสะท้อนถึงต้นทุน naphtha ที่แพงขึ้น ดังนั้นจึงคาดว่า spread เคมีภัณฑ์ในปี 2559 จะกลับมาเพิ่มขึ้น และยืนได้เหนือระดับ US$650-700/ton
คาดว่ากำไรของบริษัทจะแข็งแกร่งต่อเนื่องในปี 2560 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์เคมีภัณฑ์ในตลาดโลก และอุปสงค์ปูนซีเมนต์ในประเทศ ซึ่งจะหนุนให้ยอดขายปี 2560 เพิ่มขึ้น 10.9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 4.66 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ การประหยัดต่อขนาดหลังจากที่บริษัทสามารถเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตเกิน 70% ของโรงปูนที่กัมพูชา อินโดนีเซีย และเมียนมาร์ พร้อมทั้งสามารถเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ HVA ได้เกิน 38.0% จะช่วยหนุนให้ EBITDA margin ทรงตัวอยู่ในระดับสูงได้ที่ 19.5% และส่งผลให้กำไรปกติในปี 2560 เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งถึง 7.1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 5.61 หมื่นล้านบาท จากแนวโน้มกำไรที่แข็งแกร่งจึงยังคงแนะนำ “ซื้อ” โดยขยับไปใช้ราคาเป้าหมายใหม่ปี 2560 ที่คำนวณโดยวิธี SOTP ที่ 640 บาท จากเดิม 635 บาท