หุ้นยางมาแน่! รับปัจจัยบวกท่วมท้น-ราคาเฉลี่ยปีนี้พุ่ง 24%

หุ้นยางมาแน่! รับปัจจัยบวกท่วมท้น ประเมินปีนี้ราคายางเฉลี่ยพุ่งขึ้น 24% หลังจีนเร่งผลิตล้อรถยนต์ รับนโยบยลดภาษีรถยนต์กระตุ้นเศรษฐกิจ


หุ้นยางมาแน่! รับปัจจัยบวกท่วมท้น ประเมินปีนี้ราคายางเฉลี่ยพุ่งขึ้น 24% หลังจีนเร่งผลิตล้อรถยนต์ รับนโยบยลดภาษีรถยนต์กระตุ้นเศรษฐกิจ

ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการสำรวจบทวิเคราะห์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราครบวงจร ตั้งแต่ ธุรกิจปลูกสวนยางพาราในประเทศไทย ผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบจากยางพาราหลังจากพบว่าราคายางล่าสุดปรับตัวขึ้นสูง โดยราคายางที่ตลาดล่วงหน้า TOCOM ล่าสุดพุ่ง 5% มาที่ 367 เยน/กก. สูงสุดใหม่ในรอบกว่า 5 ปี ขณะที่มีการคาดการณ์กันว่าราคายางเฉลี่ยในปี 60 นี้ จะปรับขึ้น 24%

ด้านราคาหุ้น TRUBB ล่าสุดปิดตลาดวานนี้ (30 ม.ค.) อยู่ที่ 2.58 บาท ปรับตัวขึ้น 0.20 บาท หรือ 8.40% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 280.93 ล้านบาท อย่างไรก็ตามราคาหุ้น STA ล่าสุด อยู่ที่ 26.50 บาท ปรับตัวลง 1.50 บาท หรือ 5.36% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 867.75  ล้านบาท 

ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินปี 60 ราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบ 60 บาท/กก.เพิ่มขึ้น 24% จากราคาเฉลี่ย 48.4 บาท/กก.ปีก่อน เหตุจากจีนใช้นโยบายลดภาษีรถยนต์ขนาดเล็กเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจากเดิม 10% เหลือเพียง 5% เริ่มเดือน ต.ค.58 สิ้นสุดเดือน ธ.ค.59 ทำให้ยอดขายรถยนต์ในจีนปีที่ผ่านมาทะลุ 24 ล้านคันเป็นครั้งแรก หรือเพิ่มขึ้น 15.1% จากปีก่อนหน้า เร่งการใช้ยางพาราเพื่อผลิตล้อยางรถยนต์ของโรงงานในจีนจนระดับสต็อกยางภาคเอกชนจีนเมืองชิงเต่าลดลงอย่างต่อเนื่องถึงระดับต่ำสุดประมาณ 47,000 ตัน ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา จากระดับสูงสุดที่ 230,000 ตันเมื่อต้นปี ทำให้ราคายางพาราซึ่งเคยขายได้ที่ราคาเฉลี่ย 35 บาท/กก.(3 โล 100) เมื่อเดือน ม.ค.59 ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้

สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ดันราคายางให้สูงอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยปี 59 เฉลี่ยอยู่ที่ 46 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 32% จากราคาช่วงต้นปี  สำหรับในปี 60 TMB Analytics คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นอีก 20% จากปีก่อน จึงเป็นแรงส่งให้ราคายางทะยานอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากปัจจัยภายนอกประเทศที่เกื้อหนุนทั้งความต้องการยางจากจีนและราคาน้ำมัน ผนวกกับปัจจัยภายในประเทศ คือนโยบายควบคุมปริมาณยางพาราของภาครัฐที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องตลอดระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตยางของไทยอยู่ที่ระดับประมาณ 4.5 ล้านตันต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่เหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้และฝนตกต่อเนื่องภาคใต้ทำให้ปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติลดลง 281,100 ตัน หรือ คิดเป็น 7.1% ของปริมาณผลผลิตทั้งประเทศทั้งปี ยิ่งเป็นปัจจัยเสริมระยะสั้นให้ราคายางพาราพุ่งต่อเนื่อง

โดยราคายางแผ่นดิบล่าสุดอยู่ที่ 87.3 บาท/กก. สถานการณ์ราคาขณะนี้เรียกว่าเป็น “หนังคนละม้วน” เมื่อเทียบกับสถานการณ์ต้นปีก่อนราคายางที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้รายได้เกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้เพิ่มขึ้นเกือบ 15,000 ล้านบาทจากปีก่อนและเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจภาคใต้ฟื้นตัวจากน้ำท่วมได้เร็วยิ่งขึ้น ผ่านการเร่งจับจ่ายใช้สอยของชาวสวนยาง ซึ่งเป็นฐานกำลังบริโภคที่สำคัญของเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ให้กลับสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้ภาครัฐสามารถทยอยระบายสต็อกยางจากการใช้มาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางในอดีต ไม่ให้เป็นปัจจัยกดดันราคายางในอนาคตอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ราคายางที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา อาจเริ่มชะลอความร้อนแรงลงบ้าง เนื่องจากสต็อกยางเมืองชิงเต่าเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับต่ำสุดใกล้แตะ 100,000 ตันช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากการสิ้นสุดมาตรการลดภาษีรถยนต์ของจีนระยะแรก(ลดภาษีเหลือ 5%) และขณะนี้เป็นระยะที่สองของมาตรการดังกล่าว(ลดภาษีเหลือ 7.5%) และสิ้นสุดมาตรการระยะที่สองปลายปีนี้

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ได้ปรับขึ้นต่อเนื่องใกล้เคียงกับราคาประมาณการณ์ปีนี้แล้ว โอกาสที่ราคาน้ำมันดิบจะไปต่อจึงมีโอกาสน้อยลง ส่งผลให้ทิศทางราคายางขาขึ้นรอบนี้ไม่อาจสร้างประวัติศาสตร์ “ราคาสูงสุด” ใหม่ที่เคยทำไว้เมื่อกว่า 5 ปีก่อนได้แต่ก็ถือเป็นระดับที่น่าพึงพอใจที่ทำให้เกษตรกรและเศรษฐกิจภาคใต้สามารถขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ

ดังนั้นภาครัฐฯ จึงควรคงมาตรการควบคุมพื้นที่เพาะปลูกยางที่เคยดำเนินมาในอดีต ยกประสิทธิภาพและต้นทุนการปลูกยาง รวมถึงส่งสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยางปลายน้ำ เช่น โรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ โรงงานถุงมือยาง ถุงยางอนามัย อุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ เพื่อให้เกิดการใช้วัตถุดิบยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อเสริมให้ราคายางในประเทศมีเสถียรภาพในอนาคต

 

โดย บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประเด็นหุ้นน่าสนใจ Trading Picks TRUBB – ราคายางที่ตลาดล่วงหน้า TOCOM เช้านี้พุ่ง 5% มาที่ 367 เยน/กก. สูงสุดใหม่ในรอบกว่า 5 ปี คาดจะหนุนบรรยากาศลงทุนหุ้นยางต่อเนื่อง, ราคาหุ้น TRUBB ยังขึ้นน้อยกว่า STA และเพิ่งหลุด Cash Balance วันนี้วันแรก เหมาะแก่การเทรดดิ้งสั้น

นอกจากนี้ บล.แอพเพิล เวลธ์ ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า STA และ TRUBB ระยะสั้นแนะ “เก็งกำไร” ได้รับผลบวกจากราคายางพารา Tocom เช้านี้ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.7%

 

ด้าน บล.ทรีนีตี้ แนะนำ “ซื้อ” STA ราคาเป้าหมาย 33.30 บาท/หุ้น โดย STA เป็นประกอบการยางธรรมชาติแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่ครอบคลุมธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ จึงมีเครือข่ายผู้ขายและผู้รับซื้ออย่างแข็งแกร่ง ทางด้านสถานการณ์ราคายางโลกที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น และคาดว่าจะมีการขาดดุลยางในปี 2560-2561

ทั้งนี้ราคายางในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ราคายางแท่ง (อิงราคา SICOM TSR20) ได้ปรับตัวสูงสุดที่ 220 cent/kg เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2560 ปรับตัวสูงขึ้นถึง 86% จากปีก่อนและสูงขึ้นราว 14% ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี 2560 โดยมีปัจจัยหลักมาจากระดับอุปทานยางธรรมชาติที่ออกสู่ตลาดปรับตัวลดลง ทั้งจากประเทศไทยและจากต่างประเทศ หลังจากที่ราคายางปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 โดยที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ 106 cent/kg เมื่อช่วงเดือนก.พ. 2559

ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนได้เปลี่ยนอาชีพจากกรีดยางไปเพาะปลูกอย่างอื่นแทน ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ภัยแล้งในช่วงปี 2558-2559 ส่งผลให้ผลผลิตยางลดลงเช่นกัน ขณะที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ได้มีนโยบายสนับสนุนการปลูกปาล์มแทน ส่งผลให้มีอุปทานสู่ตลาดโลกลดลง

ด้านสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้เมื่อช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ม.ค. 2560 ส่งผลให้สวนยางได้รับความเสียหาย คาดว่ายางที่ออกสู่ตลาดจะปรับตัวลดลงราว 5.0 หมื่นตันต่อ 2 สัปดาห์  นอกจากนี้ระดับ Qingdao Natural Rubber Stock ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดที่ 5.58 หมื่นตันเมื่อเดือน ต.ค. 2559 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี เป็นการส่งสัญญาณว่าอุปทานของยางธรรมชาติเริ่มลดลง และเนื่องจากการส่งออกจากไทยได้ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการในจีนต้องหันมาบริโภคยางจาก Stock 5) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้มีความต้องการยางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น โดยที่เห็นได้จากระดับดัชนี PMI ปรับตัวสูงขึ้น 6) มีการคาดการณ์ว่าปี 2560-2561 จะมีการขาดดุลยาง เนื่องจากมีความต้องการใช้สูงกว่าอุปทานที่เข้าสู่ตลาด     

ทั้งนี้คาดการณ์รายได้รวมปี 2560 ที่ 1.13 แสนล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 54.4% จากปีก่อน  จากการที่ราคายางแท่งและปริมาณการขายคาดว่าจะมีการเติบโต จากการที่อุปทานที่เข้าสู่ตลาดโลกลดลง โดยที่ เราคาดว่าจะมีอัตราการทำกำไรขั้นต้นอยู่ที่ราว 6% และกำไรสุทธิที่ 1.60 พันล้านบาท ทั้งนี้ STA ได้แจ้งต่อตลาดว่าจะทำการถือหุ้นในบริษัทสยามเซมเพอร์เมดเพิ่มเป็น 90.2% ซึ่งเป็นบริษัทผลิตถุงมือยาง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้แก่ STA ในด้านของรายได้ที่เพิ่มขึ้น และยอดสั่งซื้อยางที่ใช้เป็นวัตถุดิบที่แน่นอนมากขึ้น

เริ่มต้นดูแลหุ้น STA ด้วยคำแนะนำซื้อ โดยราคาเป้าหมายที่ 33.30 บาท จากการอิงค่าเฉลี่ย 7 ปีของ P/BV ที่ 1.84X (+1.5SD) เนื่องจากราคายางยังคงมีทิศทางสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2560-2561 ในขณะที่ STA จะมีรายได้สูงขึ้นหากค่าเงินบาทยังคงอยู่ในทิศทางอ่อนค่า เราจึงให้ค่า P/BV ที่ +1.5SD เพื่อสะท้อน Upside Gain ที่อาจเกิดขึ้น     

 

*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button