จับตา IFEC ตกลง “ปรองดอง” หรือ “สะสาง”?
จับตา IFEC ตกลง "ปรองดอง" หรือ "สะสาง"?
จับตาผู้ถือหุ้น IFEC จะเลือกวิถี “ปรองดอง” หรือ “สะสาง”?
ผู้สื่อข่าวรายงาน เกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งภายใน บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ล่าสุดว่า มีผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกระบุว่า เป็นผู้ส่งสัญญาณผ่านทาง นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการบริษัท คนปัจจุบัน ด้วยการเสนอชื่อบุคคลเข้าร่วมรับการคัดสรรเป็นกรรมการชุดใหม่ของบริษัท โดยมีการกล่าวอ้างถึงบุคคลที่ถูกเสนอมานั้น ว่า “มาถูกที่ ถูกเวลา” รวมถึง “มาเพื่อสยบปัญหาภายใน โดยเฉพาะเรื่องทุจริตจากผู้บริหารชุดเก่า”
สำหรับบุคคลที่ถูกเสนอชื่อดังกล่าว ได้รับการขนานนามจากผู้เสนอว่าเป็น “ขุนพลตัวจริง” อีกทั้งยังเป็น “ทหารนักบริหารมืออาชีพ” โดยมีจำนวนทั้งหมด 3 ราย ประกอบด้วย
1) พล.อ.ณรงค์ฤทธิ์ อิศรัตน์ ตุลาการศาลทหาร และกรรมการการเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร
2) พล.อ.บุญเลิศ แจ้งนพรัตน์ อดีตผู้อำนวยการกองสนับสนุน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
3) พล.ต.ต.สืบศักดิ์ พันธ์สุระ อดีตผู้บังคับการ กองกำกับการตำรวจนครบาล 5
ทั้งนี้ ถือเป็นประเด็นน่าสนใจ สำหรับที่มาที่ไปของการเสนอชื่อบุคคลเหล่านี้เพื่อเข้ามารับการคัดสรรให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ IFEC ซึ่งผู้ถือหุ้นกลุ่มดังกล่าวเชื่อว่า บุคคลข้างต้นจะก้าวขึ้นมาเป็น “ขุนพล” หรือ “นายพลมือสะอาด” ที่มากด้วยประสบการณ์ด้านการทำงาน อีกทั้งยังมีระดับ “ซุปเปอร์คอนเนคชั่น” ในแวดวง “เตรียมทหารฯ รุ่น 12” และ “วปอ. รุ่น 19” ซึ่งจะสามารถนำพาให้ความฝันของ IFEC ที่จะก้าวขึ้นเป็นพลังงานทดแทนครบวงจรสามารถไปถึงฝั่งฝันได้
พร้อมกันนี้ บุคคลทั้ง 3 ถูกกล่าวอ้างว่า มีความ “เด็ดขาด” และ “ชัดเจน” ตามแบบฉบับของทหาร ซึ่งผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้เชื่อว่า จะสามารถสร้างแนวทางปรองดองระหว่างกลุ่มต่างๆในบริษัท เพื่อให้เดินหน้าต่อไปในธุรกิจพลังงานทดแทนได้ต่อไป หรือพูดอีกอย่างคือ มีการคาดหวังจะให้ทั้ง 3 นายพลก้าวขึ้นมาเป็น “โซ่ข้อกลาง” หรือ “มือประสานสิบทิศที่สามารถสร้างความปรองดอง สางงานเก่า สานงานใหม่” ให้ IFEC ก้าวเดินอย่างมั่นใจต่อไปในอนาคต”
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า ขณะนี้มีกระแสข่าว ซึ่งเชื่อว่ามาจากกลุ่มผู้ถือหุ้นที่สนับสนุน นายทวิช เตชะนาวากุล ผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ของ IFEC ออกมาเรียกร้องให้ นายวิชัย ก้าวลงจากตำแหน่ง และเปิดทางให้คณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาบริหารแทน โดยอ้างเหตุผลว่า การบริหารงานของ นายวิชัย ช่วงที่ผ่านมา ถือว่ามีความผิดพลาดและประสบกับความล้มเหลวโดยเฉพาะในส่วนของการผิดนัดชำระหนี้
นอกจากนี้ การที่คณะกรรมการชุดที่ นายวิชัย เคยนำเสนอต่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 มกราคม ถูกปฏิเสธโดยเสียงส่วนมากจากผู้ถือหุ้น ยังเสมือนเป็นตัวชี้วัดว่า ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ นายวิชัย อยู่ในตำแหน่งบริหารต่อไป ซึ่งนั่นหมายถึง คณะกรรมการชุดใหม่ที่จะถูกนำเสนอในการประชุมฯ ครั้งที่ 2 วันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ อาจถูกปฏิเสธจากผู้ถือหุ้นอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นได้
อนึ่ง จากการเปิดรายชื่อคณะกรรมการฝั่ง นายทวิช เมื่อครั้งการประชุมฯรอบแรก พบว่า นอกเหนือจากตัว นายทวิช แล้ว ยังมีชื่อบุคคลอื่นที่ได้รับความสนใจเช่นเดียวกัน ประกอบด้วย
1) พล.อ.สำเภา ชูศรี อดีตผู้บัญชาการทหารบก
2) พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ อดีตรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
3) นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารศรีนคร และธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ทั้งนี้ กระแสข่าวดังกล่าวมีการกล่าวอ้างถึง ความตั้งใจของ นายทวิช ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ IFEC โดยมีการนำเหตุการณ์ที่ นายทวิช เคยประกาศเมื่อครั้งการประชุมฯรอบแรกว่า ตนพร้อมจะชำระหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น หรือตั๋วบี/อี ในทันทีหากคระกรรมการฝั่งตนถูกรับเลือก อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนฝั่งที่เป็นผู้ควบคุมการประชุมคือ นายวิชัย จะไม่เปิดโอกาสให้มีการลงคะแนนสำหรับคัดเลือกกรรมการชุดใหม่ และ IFEC จึงผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี อีกครั้ง เมื่อวันที่ 26 มกราคม
อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุของการผิดนัดชำระหนี้ว่า เป็นเพราะ นายวิชัย ไม่ได้มีการเตรียมพร้อมที่จะชำระหนี้หรือแก้ปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด หากแต่พุ่งเป้าไปยังอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คือ นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ ว่า เป็นต้นเหตุของความผิดพลาดทั้งหมด ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลที่ยังไม่ได้เป็นกรรมการอย่าง นายทวิช ที่มีการเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ รวมถึงเข้าไปหารือกับ กลต. ทำให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้เชื่อว่า นายทวิช มีความตั้งใจจริงในการเข้ามาสะสางปัญหาต่างๆ
“ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ IFEC ในขณะนี้ต้องการทีมชาติเข้ามาแก้ปัญหาให้ตรงจุด ไม่ใช่มือสมัครเล่น เพราะปมปัญหาสำคัญ คือ ต้องเร่งแก้ปัญหาหนี้ ฟื้นฟูสถานะทางการเงิน ฟื้นความเชื่อมั่นเจ้าหนี้ คู่ค้า และที่สำคัญคือ ความเชื่อมั่นจากผู้ถือหุ้น”
“ทำอย่างไรจะพลิกฟื้นธุรกิจได้ ทำอย่างไรจะให้หุ้น IFEC กลับมาซื้อขายได้ในเร็ววัน หาใช่การปรองดองอย่างที่ นายวิชัย พยายามนำเสนอ นายทวิชไม่ใช่คู่ขัดแย้งของ นายวิชัย แต่เป็นผู้อาสาเข้ามาแก้ปัญหาพร้อมขุนศึกมืออาชีพ” ผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่งกล่าว (อ้างอิงจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้น)